ฉากวางยาแมวในละคร ช่องดัง เรื่องถึงปศุสัตว์ จ่อเรียกเจ้าของแมวดำ-สถานีโทรทัศน์ เข้าให้ถ้อยคำ

ฉากวางยาแมวในละคร ช่องดัง เรื่องถึงปศุสัตว์ จ่อเรียกเจ้าของแมวดำ-สถานีโทรทัศน์ เข้าให้ถ้อยคำ

View icon 125
วันที่ 11 พ.ย. 2567 | 16.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ฉากวางยาแมวในละคร ช่องดัง เรื่องถึงปศุสัตว์ จ่อเรียกเจ้าของแมวดำ-สถานีโทรทัศน์ เข้าให้ถ้อยคำ หากพบความผิดดำเนินการตามกฎหมาย

วันนี้ (11พ.ย.67) นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวกรณีฉากแมวถูกวางยา ในซีรีส์เรื่องหนึ่ง ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจเข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการส่งหนังสือถึงสถานีโทรทัศน์ เพื่อให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในวันที่ 18 พ.ย.67 เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงในกรณีการวางยาสลบแมว เพื่อการแสดงว่าเข้าข่ายการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือไม่ ส่วนการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าพนักงานมีอำนาจจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องต่อไป

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า กรมฯ จะตั้งคณะทำงานศึกษาออกประกาศให้ครอบคลุมการใช้งานสัตว์ การใช้งานสัตว์ต้องมีการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสม ทั้งอาหาร น้ำ ที่อยู่อาศัย การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมธรรมชาติ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันมีการนำสัตว์มาใช้อย่างหลากหลาย รวมถึงคาเฟ่แมวด้วย

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์โดยกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบตามกฎหมายจะมีหนังสือเรียกเจ้าของสัตว์ ผู้แทนองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ ผู้ดูแลสถานสงเคราะห์สัตว์ หรือ ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคํา หรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้หากพบว่ามีความผิดตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้หากเจ้าของสัตว์ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตรามมาตรา 22 มาตรา 24 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนต่อไป

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนําสัตว์เข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบการแสดงต่างๆ หากไม่มีการทําทารุณกรรม มีการดูแลที่ดีหรือมีที่พักให้พร้อมก็ไม่ถือว่าผิด ส่วนตัวเชื่อว่าครั้งนี้จะเป็นเคสตัวอย่างที่ทําให้อนาคตผู้จัดจะพึงระลึกและมีความรอบครอบมากยิ่งขึ้นและอาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทําให้มีความสมจริงมากยิ่งขึ้นมากกว่านําสัตว์จริงๆมาแสดง