เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก เผยภาพลูก “ค่างแว่นถิ่นเหนือ” สัตว์ป่าหายาก โดยปกติจะมีนิสัยขี้อาย และไม่ยอมลงจากต้นไม้หากไม่จำเป็น
วันนี้ (11 พ.ย. 67) โดย “ค่างแว่นถิ่นเหนือ” (Trachypithecus phayrei) มีสีเทาเข้มอมน้ำเงิน บริเวณหน้าท้องมีสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย ตัวผู้หนัก 7.4 กิโลกรัม มีความยาว 1.07-1.1 เมตร ส่วนตัวเมียหนักเฉลี่ย 6.2 กิโลเมตร ยาว 1.15-1.3 เมตร หางยาว 65-86 เซนติเมตร หรือประมาณ 68 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-หาง การแยกเพศนั้นแยกได้จากวงขาวที่ตา ตัวผู้มีวงตาขนานกับข้างจมูก จึงมีแนวสีดำกว้างสม่ำเสมอ ขณะที่ตัวเมียวงตาสีขาวลู่เข้าหาจมูก จึงดูเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม แขนขาท่อนบนและโคนหางสีเทาอ่อน หัวและหางสีเข้ม รอบริมฝีปากและตาสีขาว โดยค่างโตเต็มวัยมีขนบนกระหม่อมยาว ส่วนลูกค่างมีสีส้มสดใส ซึ่งจะเริ่มเปลี่ยนเมื่ออายุได้ 3 เดือน
ถิ่นที่อยู่อาศัยของ “ค่างแว่นถิ่นเหนือ” พบได้ในป่าหลายประเภท ชอบอยู่ตามป่าดิบผสมกับป่าเบญจพรรณ ทั้งป่าดั้งเดิมและป่าชั้นสองในป่าดิบ พบได้ทั้งบนต้นไม้ที่ระดับสูงถึง 15-50 เมตรเหนือพื้นดิน บางครั้งก็พบในป่าไผ่
นิสัยของ “ค่างแว่นถิ่นเหนือ” ขี้อาย และเมื่อถูกคุกคามก็มักจะหนี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเรือนยอดของป่าไม่ยอมลงสู่พื้นหากไม่จำเป็น เป็นสัตว์หวงถิ่น และจะปกป้องอาณาเขตจากค่างแว่นถิ่นเหนือต่างฝูงอย่างแข็งขัน แต่อาจยอมหากินร่วมพื้นที่กับค่างต่างชนิดได้