ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ปิดเงียบผลคดี “บิ๊กโจ๊ก” รอองค์คณะอ่านคำพิพากษา ขณะที่สำนักงานศาลปกครอง สั่งฝ่ายกฎหมายเก็บหลักฐานดำเนินคดีสื่อละเมิดอำนาจศาล
วันนี้ (13 พ.ย.67) นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยได้นำประเด็นข้อกฎหมายในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.117/2567 ที่พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. ยื่นฟ้อง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.), นายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีร่วมกันให้พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ออกจากราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าสู่การพิจารณา
มีรายงานว่า ในการพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าว องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน ได้สรุปสำนวนคดีและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รายงานต่อที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด โดยในที่ประชุมได้เปิดให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแต่ละคนได้อภิปรายแสดงความคิดเห็นก่อนที่จะมีการลงมติชี้ขาด จากนั้นจะส่งสำนวนกลับไปให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวนเขียนคำพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เข้าร่วมการประชุม ส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธที่จะเปิดเผยผลการประชุม โดยให้เหตุผลว่า ผลการประชุมเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ต้องรอให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน ดำเนินการออกเป็นคำสั่ง หรือคำพิพากษาต่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งล่าสุดองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดเจ้าของสำนวน ยังไม่ได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และสั่งนัดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งวันนี้มีรายงานข่าวออกมาทั้ง 2 ทาง โดยทางหนึ่งมีกระแสข่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคุ้มครองฯ และบางรายงานข่าวก็ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุด มีมติยกคำร้องของพล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าผลการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นอย่างไร
ขณะที่วันนี้มีรายงานด้วยว่า สำนักงานศาลปกครองได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอข่าวคดีดังกล่าวไปในทางหมิ่นและละเมิดอำนาจศาล เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับคดีนี้ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ฟ้องว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 178/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 ให้ตนเองออกจากราชการไว้ก่อน กรณีถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน เนื่องจากมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ จนถูกดำเนินคดีอาญาและถูกศาลอาญาออกหมายจับ ในความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการทำผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันและเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน โดยผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อก.พ.ค.ตร. และ ก.พ.ค.ตร. ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์และยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฯ