บุรีรัมย์ระดม จนท.เร่งเก็บกระทงในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูกคาดไม่ต่ำกว่า 4 ตันส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติ พบ กระทงขนมปังปลากินไม่ทัน หวั่นทำให้น้ำเสีย
ตั้งแต่เช้า (16 พ.ย.67) เทศบาลนครบุรีรัมย์ ระดมพนักงาน เจ้าหน้าที่กว่า 200 ชีวิต เร่งเก็บเศษซากกระทงและขยะมูลฝอยลอยเกลื่อนคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูก สถานที่จัดงานและเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวลอยกระทง คาดไม่ต่ำกว่า 4 ตัน ส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติ แต่พบปัญหาขนมปังอาหารปลาที่นำมาทำกระทงหลากหลายสีสันปลากินไม่ทันหวั่นทำให้น้ำเสีย
น.ส.อาภัสรา วงศ์สัมพันธ์ชัย หัวหน้าฝ่ายบริหารกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครบุรีรัมย์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กองช่างสุขาภิบาล กองช่าง และจิตอาสากว่า 200 คน เร่งช่วยกันเก็บเศษซากวัสดุกระทง และขยะมูลฝอย ที่ลอยเกลื่อนในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูก ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานและเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยวนำกระทงมาลอย เพื่ออนุรักษ์สืบสานประเพณี และเป็นการขอขมาแม่พระคงคา เมื่อค่ำคืนวันที่ 15 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
โดยจากการสำรวจพบว่าในปีนี้ ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ต้นกล้วย และดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ย่อยสลายง่ายมาประดิษฐ์กระทงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษในแม่น้ำลำคลอง แต่ก็ยังมีผู้ที่นำวัสดุที่ย่อยสลายยาก เช่น โฟม พลาสติก เข็มหมุด มาประดิษฐ์กระทงอยู่บ้างแต่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์
จากนั้นจะนำไปคัดแยกและทำลายฝังกลบที่บ่อกำจัดขยะของเทศบาล ป้องกันการเน่าเสีย และก่อให้เกิดมลพิษในคลองละลมโบราณ ทั้งเป็นการปรับภูมิทัศน์บริเวณคลองละลมโบราณให้สะอาด สวยงาม ซึ่งคาดว่าภายในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูกจะมีเศษซากวัสดุกระทงไม่น้อยกว่า 30,000 ใบ หรือประมาณ 3 ตัน โดยเฉพาะคลองละลมโบราณ ลูกที่ 1 จะมีปริมาณกระทงมากกว่าคลองละลมลูกอื่น
“ปีนี้มีประชาชน และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานประเพณีลอยกระทงมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณกระทงก็มากก็กว่าปีที่แล้ว จึงคาดว่าในคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูกที่เปิดให้นักท่องเที่ยวลอยกระทง จะมีปริมาณกระทงไม่ต่ำกว่า 4 ตัน ที่พบปัญหาคือขนมปังอาหารปลาหลากหลายสีสัน ที่นำมาทำกระทงอาจจะย่อยสลายไม่ทัน เนื่องจากในคลองละลมจำนวนปลาค่อนข้างน้อย เมื่อปลากินไม่ทันขนมปังดังกล่าว ก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้น้ำเน่าเสียได้ ดังนั้นจะต้องหาวิธีจัดเก็บให้หมดโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำคลองละลมโบราณ”
สำหรับคลองละลมโบราณทั้ง 6 ลูก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอารยธรรมขอม ที่มีประวัติการก่อสร้างมายาวนาน ตั้งแต่ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ ทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนและออกกำลังกายของประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย