“ระบบสาธารณสุขไทย” สิทธิขั้นพื้นฐานครอบคลุมทุกช่วงวัย ย่อมเยา เท่าเทียม “นายกฯ” ชื่นชมกลางวง “APEC CEO Summit”
วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.40 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ณ เดอะ แกรนด์ เนชั่นนอล เทียร์เตอร์ ออฟ เปรู กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำภาคเอกชนของเอเปค (the APEC CEO Summit) ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพราะสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ และเกี่ยวพันโดยตรงกับความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกด้านที่ต้องเผชิญ
ประเทศไทยจึงเชื่อว่า ระบบสาธารณสุขถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะสุขภาพที่ดีจะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงของมนุษย์ และเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงทางเศรษฐกิจของไทย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่บรรลุเป้าหมายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) หรือ UHC ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ราคาไม่แพงและเท่าเทียมกันมายาวนานกว่า 22 ปี จึงสามารถพูดได้ว่า ปัจจุบันคนไทยมากกว่า 99% มีประกันสุขภาพแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลสำหรับครอบครัวที่ประสบปัญหาได้อย่างแน่นอน
พร้อมย้ำว่า ปัจจุบันไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ส่งผลให้ประชากรมากกว่า 20% มีอายุมากกว่า 60 ปี และไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดภายในทศวรรษหน้า อันจะส่งผลให้กำลังแรงงานและประสิทธิภาพการผลิตลดลง ไทยจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบ UHC เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในลักษณะที่ครอบคลุมและมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการประกาศนโยบาย “30 บาท รักษาทุกที่” ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหมดเป็นระบบระเบียบ โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่การเข้าคิว การส่งต่อ การวินิจฉัยโรค การสั่งยา การบริการสุขภาพ เข้าถึงผู้คนทุกวัย รวมถึงประชากรสูงวัย ด้วยค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของไทยทุกคนสำหรับการบริการและความทุ่มเท เนื่องจากระบบการแพทย์ทางไกลช่วยให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพจากที่บ้านได้ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของไทยกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาลมากกว่า 500 แห่ง ได้อย่างอย่างไร้รอยต่อ
ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผ่าน“แอปพลิเคชันสมุดบันทึกสุขภาพผู้สูงอายุ (Blue Book Application)” ซึ่งให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพกับผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุติดตามสุขภาพและความเป็นอยู่อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสุขภาพที่ดี ตลอดจนสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุมทุกมิติ
ด้วยเหตุนี้ อยากให้เอเปคสนับสนุนคนในทุกช่วงวัยใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี มีเป้าหมาย และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น เอเปคจึงควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงประชากรศาสตร์ทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เข้ามาช่วยสนับสนุนระบบให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้ประชากรสูงวัยมีชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ยังสนับสนุนให้สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมทักษะใหม่และยกระดับทักษะด้วย
เนื่องจากเห็นว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับสุขภาพ วิทยาศาสตร์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้แนะให้ดูแลสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายได้ดีขึ้น และสามารถลดโอกาสการเกิดโรคร้ายแรงได้ ซึ่งจากแนวคิด the Care and Wellness Economy ที่ผสมผสานสุขภาพ การท่องเที่ยว และนวัตกรรม โดยเพิ่มการให้การบริการดูแลอย่างจริงใจนั้น เชื่อว่าจะสามารถมอบโอกาสมากมายที่สามารถส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาวได้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าประเทศไทยจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างแข็งขัน และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพที่แข็งแกร่ง สิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ที่มีคุณภาพสูง มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะ และมีต้นทุนที่เอื้อมถึง โดยที่ไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยจะเดินหน้าทำงานเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนระหว่างประเทศ และ มีส่วนร่วมกับเขตเศรษฐกิจเอเปค รวมถึงชุมชนธุรกิจเอเปคต่อไป เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการแพทย์ที่สมบูรณ์ และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ของประชาชนในภูมิภาคและพื้นที่อื่นๆ