เวลา 09.06 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังพื้นที่โคกหนองโกสาธารณะ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดควายสวยงาม ในงาน "อุดรธานี วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก" ประจำปี 2567 ซึ่งจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี, สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทยจังหวัดอุดรธานี ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทย รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรหันมาสนใจอนุรักษ์ และพัฒนาควายสายพันธุ์ไทยเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่น่าสนใจ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการประกวดควาย และพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวดฯ ปีนี้ มีเกษตรกรจากทั่วประเทศนำควายสมัครเข้าประกวด 567 ตัว ควายที่ชนะเลิศ รุ่นควายยอดเยี่ยม Grand champion เพศผู้ ชื่อเจ้าพระยา จากกาแฟชาวนา จังหวัดบุรีรัมย์ และเพศเมีย ชื่อดาริณ จากทิพย์พิมานฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา ส่วนควายที่ชนะเลิศ รุ่นรองควายยอดเยี่ยม Reserve Grand champion เพศผู้ ชื่อเพชรพิมาน จากทิพย์พิมานฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา และเพศเมีย ชื่อเพชรภูฟ้า จากพิชยะฟาร์ม จังหวัดมหาสารคาม
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ "ปัจจัย 4 วิถีคน วิถีควาย มรดกไทย มรดกโลก" อาทิ โซนที่อยู่อาศัย แสดงบ้านเรือนแบบวิถีท้องถิ่น มีการเลี้ยงควายบริเวณบ้าน, โซนเครื่องนุ่งห่ม มีการทอผ้ามัดหมี่ลายพญานาคขิดภูษากาสร หรือขิดลายควาย, ลายดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำจังหวัด และผ้าไหมทอมือ ลายขดบ้านเชียง, โซนอาหารและยา นำเกสรบัวหลวง มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา ซึ่งช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงร่างกาย ลดภาวะสมองเสื่อม, และโซนผลิตภัณฑ์อำเภอทุ่งฝน เช่น กลุ่มทอผ้า นำผ้าขาวม้า มาพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่า เป็นหมวก ร่ม และกระเป๋า, กลุ่มจักสานจากไม้ไผ่ หวาย และคล้า ทำเป็นตะกร้า กระเป๋า และกระติ๊บข้าวเหนียว
สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงสนพระทัย และทรงตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลเลี้ยงควายไทยให้คงอยู่คู่สังคม และวิถีเกษตรกรรมของไทยอย่างมีคุณค่า เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทย และผู้เลี้ยงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ควายไทยให้กลับมามีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของคนไทยอีกครั้ง
สำหรับจังหวัดอุดรธานี มีการส่งเสริม อนุรักษ์ และพัฒนาการเลี้ยงควายไทย สืบสานวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นอีสาน มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านการท่องเที่ยวที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนของจังหวัดรองในทุกมิติ ได้รับการยอมรับว่าเป็นจังหวัดที่สามารถรองรับการท่องเที่ยวเมืองรองให้เป็นฐานด้านวัฒนธรรม นวัตวิถี กระตุ้นให้เกษตรกรและผู้สนใจหันกลับมาเลี้ยงควายเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน มีผู้เลี้ยงควายทั้งจังหวัด 13,253 ราย จำนวน 69,340 ตัว