สนามข่าว 7 สี - ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว กับคดีที่ถูกเรียกว่า "แอม ไซยาไนด์" เพราะผู้ต้องหาใช้สารพิษไซยาไนด์ ฆ่าเหยื่อ 14 ศพ กับอีก 1 คน ที่รอดชีวิต เมื่อวานศาลพิพากษาประหารชีวิตตัวการหลัก และสั่งจำคุกผู้ให้การช่วยเหลือ
พิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์"
อดทนรอทวงความยุติธรรมมานานถึง 19 เดือน กับการจากไปของลูกสาวคนโต ที่เปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัว ในที่สุด นางทองพิน แม่ของ "ก้อย" ผู้เสียชีวิตที่เสมือนเป็นผู้เปิดคดี "แอม ไซยาไนด์" ก็สามารถบอกกับลูกสาวได้แล้วว่า "ได้รับความเป็นธรรมแล้ว ขอให้นอนหลับให้สบาย ไม่มีอะไรที่ต้องห่วง"
มีรายงานข่าวว่าในห้องพิจารณาคดี "แอม" มีสีหน้าเรียบเฉย ร่างกายซูบผอม หันมาคุยกับ "ทนายพัช" ตลอด ส่วนทนายพัช และพันตำรวจโท วิฑูรย์ ก็มีสีหน้าเรียบเฉย ทั้ง 3 คน ไม่มีท่าทีสลด หรือแสดงอาการเสียใจ มีบางจังหวะที่ "แอม" หันไปคุยแล้วหัวเราะออกมา
โดยศาลฯ ใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานกว่า 3 ชั่วโมง พิเคราะห์ว่าจำเลยทั้ง 3 กระทำผิดตามฟ้อง สั่งประหารชีวิต "แอม" จำเลยที่ 1 จำคุก 2 ปี ทนายพัช ไม่รอลงอาญา และลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ให้ พันตำรวจโท วิฑูรย์ เพราะให้การเป็นประโยชน์ในชั้นสอบสวน
หลังศาลฯ อ่านคำพิพากษา อดีตสามีแอม และทนายพัช ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ศาลอาญาพิจารณาคำร้องแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท
ต่อมาช่วง 18.00 น. ทนายพัช ลงมาจากอาคารศาลอาญา พร้อมด้วย นายไชยา คุ้มอ่ำ ทนายความ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน หลังจากได้รับการประกันตัวว่า เตรียมสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์ และบอกด้วยว่า "แอม" มีอาการเครียด หลังรู้ว่าถูกพิพากษาประหารชีวิต
"ทนายเดชา" หนึ่งในทนายความเข้ามาช่วยดูแลคดีนี้ ยอมรับว่าจุดบอดสำคัญของคดีนี้ คือไม่มีประจักษ์พยานที่จะยืนยันได้ว่า "แอม" วางยาพิษให้เหยื่อกินได้อย่างไร แต่ในการนำสืบของผู้ต้องหา มีคำให้การบางอย่างที่ส่งผลให้เกิดการมัดตัวผู้ต้องหาเอง จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิต
ไม่สลด แม้ศาลฯ สั่งประหาร "แอม ไซยาไนด์"
ขณะที่ "ต้นอ้อ เป็นหนึ่ง" ยืนยันข้อมูลตามรายงานข่าว พร้อมบอกด้วยว่า ช่วงที่เห็น "แอม" เดินเข้ามาให้ห้องพิจารณาคดี ได้แต่งหน้าทาปาก ดัดขนตา ไม่มีท่าทีสลด หรือสำนึกผิดแต่อย่างใด
ทีมข่าวสอบถามเรื่องของทนายพัช กับนายกสภาทนายความ บอกว่า เรื่องการปลด ทนายพัช ออกจากการเป็นทนายความ จะทำได้ใน 2 กรณี กรณีแรกคือ ไม่มีการฟ้องร้อง แต่มีผู้มาร้องเรียนให้สอบมรรยาททนายความ ซึ่งก็จะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ อีกกรณีคือ ถ้ามีการฟ้องร้องดำเนินคดี ก็ต้องรอให้คดีถึงที่สุด และเมื่อศาลฯ มีคำพิพากษาว่ามีความผิด สภาทนายความถึงจะปลดบุคคลนั้นออกจากการเป็นทนายความได้