กมธ.มั่นคงฯ ขอเน้นฟังข้อมูลปม MOU 44 รอบด้าน ยันยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก ถึงอย่างไรเกาะกูดก็เป็นของไทย แต่ต้องพิจารณาต่อเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ด้านพลังงาน เล็งใช้กลไลสภาฯ เดินหน้าตรวจสอบ
นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ว่า วันนี้ (21 พ.ย.67) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ไทย-กัมพูชา และบันทึก ความเข้าใจ MOU 44 โดยจะเน้นการฟังเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ มีหลายฝ่ายมองเรื่องนี้แตกต่างกันไป แต่การประชุมวันนี้ยังไม่นำไปสู่การตัดสินใจอะไร เน้นไปที่ข้อมูลเป็นหลัก
รังสิมันต์ โรม ยืนยันว่า เรื่องนี้กรรมาธิการฯ ได้ศึกษารายละเอียด ทั้งบันทึกข้อตกลง และรับฟังความเห็นของนักวิชาการ ซึ่งตนเข้าใจในข้อกังวลของหลายฝ่าย ที่มองว่าข้อตกลงนี้อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์ แต่ต้องยอมรับความจริงตามที่มีข้อโต้แย้งว่าไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้น จึงใช้การประชุมวันนี้รับฟังข้อมูล และเห็นสอดคล้องกับทุกคนว่า ถึงอย่างไรเกาะกูดก็เป็นของไทย แต่เรื่องนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ผลประโยชน์ด้านพลังงานว่าสุดท้ายแล้ว จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการยกเลิก MOU 44 นั้น รังสิมันต์ โรม บอกว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบแง่บวก แง่ลบ อย่างไร เพราะวันนี้จุดยืนของกรรมาธิการ คือ การรับฟังข้อมูล แต่ข้อเสนอถึงขั้นยกเลิก MOU หรือไม่ต้องคุยกันในกรรมาธิการ ซึ่งจะต้องรับฟังและหาข้อมูลให้มากที่สุด โดยต้องไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก ทุกอย่างต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้มองเฉพาะเขตแดน แต่มองไปถึงการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวที่จะนำไปสู่การจัดสรรผลประโยชน์ ของฝ่ายต่างๆ ด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลออกมาแล้ว เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป และอยู่ในวิสัยที่เพื่อน สส. สามารถตั้งกระทู้ถามในสภาฯ ได้ หรือนำไปหารือกับรัฐบาลได้ รวมถึงการเสนอยุติในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และขอยืนยันว่าส่วนตัวมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ แต่ต้องยึดข้อมูลเป็นสำคัญ และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน โดยที่ฝ่ายต่าง ๆ มีจุดยืนแตกต่างกัน ซึ่งในฐานะ สส. และกรรมาธิการก็มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและรับฟัง ขอให้รออีกนิด เพื่อจะใช้กลไกของกรรมาธิการและสภาในการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริง