องคมนตรี ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ณ เรือนจำกลุ่มลาดยาว กรุงเทพมหานคร

View icon 157
วันที่ 21 พ.ย. 2567 | 20.08 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา และพลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการมูลนิธิฯ ไปตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เรือนจำกลุ่มลาดยาว กรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขังครบทั้ง 7 ด้าน และผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานครบทุกด้าน ได้แก่

ทัณฑสถานหญิงกลาง ควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีถึงประหารชีวิต มีผู้ต้องขังหญิง 4,205 คน ได้รับครุภัณฑ์ทางการแพทย์พระราชทาน 21 รายการ โดยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์นำรถเอกซเรย์เคลื่อนที่พระราชทาน เข้าตรวจเอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกเดือน ซึ่งปีนี้มีการจัดตั้งเป็นสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด "บ้านแสงวันใหม่" ประเภทสถานฟื้นฟูสมรรถภาพภาครัฐ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด สำหรับผู้ต้องขังหญิงตั้งครรภ์และเด็กติดมารดาจะได้รับการตรวจรักษาตามแพทย์นัดทุกครั้ง มีห้องนอนแยกเฉพาะจากผู้ต้องขังอื่น มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ต้องขังตั้งครรภ์ มารดาเด็กติดผู้ต้องขัง และพี่เลี้ยงเด็ก ในหลักสูตร "ตั้งครรภ์คุณภาพ" และ "คนดีที่ขวบปีแรก" และมีนวัตกรรม "ระบบจัดการแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล (Sentence Plan)" เป็นโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลผู้ต้องขังรายบุคคล เพื่อใช้ในการวางแผนดำเนินการในการควบคุม พัฒนาพฤตินิสัยและเตรียมความพร้อมอย่างมีระบบ

ส่วนทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ควบคุมผู้ต้องขังชาย 5,365 คน โทษระหว่างพิจารณาคดีถึงตลอดชีวิต ส่วนใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ยาเสพติด ได้รับพระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ผู้ต้องขังโรคทางจิตเวชได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องทุกคน มีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังคดียาเสพติดผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังคดียาเสพติดก่อนพ้นโทษในเรือนจำและทัณฑสถาน ได้คิดค้นนวัตกรรม Security Drug of CIDA ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ป้องกันการสูญหายของยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาจากคลังยา ใช้การสแกนนิ้วมือก่อนเข้าห้องยา

ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ขนาด 350 เตียง สังกัดกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ให้บริการเรือนจำ/ทัณฑสถานลูกข่าย 7 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เรือนจำกลางคลองเปรม, ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง, เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, ทัณฑสถานหญิงกลาง, ทัณฑสถานหญิงธนบุรี, เรือนจำพิเศษธนบุรี และเรือนจำพิเศษมีนบุรี รวมถึงรับส่งตัวมาเพื่อส่งต่อรักษาโรงพยาบาลตติยภูมิจากเรือนจำทั่วประเทศ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง และกลุ่ม Long-Term Care ให้บริการผู้ป่วยใน แบ่งเป็น 6 หอผู้ป่วยใน และ 1 แดนพักฟื้น มีบุคลากรทางการแพทย์ 316 คน มีผู้ต้องขังป่วย 349 คน ได้รับครุภัณฑ์พระราชทาน 31 รายการ โดยดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลราชทัณฑ์แห่งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดส่งมอบในปี 2568

เรือนจำกลางคลองเปรม ควบคุมผู้ต้องขังชาย 6,226 คน ตามคำพิพากษาของศาลถึงประหารชีวิต ได้รับพระราชทานครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 21 รายการ มีช่องทางด่วนพิเศษเชื่อมต่อระหว่างสถานพยาบาลเรือนจำฯ ไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ระยะทางเพียง 300 เมตร มีนวัตกรรมการคัดแยกระดับความเร่งด่วนของผู้ต้องขังป่วย ด้วยโปรแกรมการวิเคราะห์อัตโนมัติเรือนจำกลางคลองเปรม "Auto Triage Program" ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2566 เป็นนวัตกรรมการคัดแยกระดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ลดขั้นตอนการนำส่งผู้ต้องขังป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต
 
เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ควบคุมผู้ต้องขังกำหนดโทษไม่เกิน 15 ปี มีผู้ต้องขังชาย 3,958 คน ได้รับพระราชทานเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ พร้อมระบบ Ai 1 เครื่อง มีการบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้ต้องขังใน OPD Card ระบบฐานข้อมูลผู้ต้องขังกรมราชทัณฑ์ และแพทย์ผู้เข้าตรวจสามารถบันทึกประวัติและสั่งยาผ่านระบบ EMR ได้รับการสนับสนุนแพทย์จิตอาสาจากสถาบันโรคผิวหนังเข้ามาตรวจในเรือนจำ

สำหรับการตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ เรือนจำกลุ่มลาดยาว ในวันนี้ องคมนตรีได้เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาการดำเนินโครงการฯ ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับสิทธิต่าง ๆ ได้รับการฟื้นฟูกายใจให้สมบูรณ์ก่อนพ้นโทษ เพื่อคืนคนดีที่เคยก้าวพลาดกลับสู่สังคม สมดังพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ข่าวอื่นในหมวด