จำคุก 17,065 ปี ปรับ 1.7 พันล้าน แชร์ลูกโซ่บริษัทดัง หลอกเหยื่อลงทุนเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูล

จำคุก 17,065 ปี ปรับ 1.7 พันล้าน แชร์ลูกโซ่บริษัทดัง หลอกเหยื่อลงทุนเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูล

View icon 310
วันที่ 22 พ.ย. 2567 | 15.41 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ศาลอาญา สั่งจำคุก 17,065 ปี ปรับ 1.7 พันล้าน ร่วมชดใช้เงินให้ผู้เสียหาย แชร์ลูกโซ่บริษัทดัง หลอกเหยื่อลงทุนเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จำเลยที่ 1-3  รับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง แต่ตามกฎหมายให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 6

วันนี้ (22 พ.ย.67) จากกรณีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคดีบริษัท คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์ จำกัด เป็นคดีพิเศษที่ 63/2564 หลังมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบริษัท คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์ จำกัด กับพวกรวม 7 ราย ซึ่งมีพฤติกรรมหลอกลวงประชาชนให้เข้าร่วมลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับการบริการให้เช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์บนระบบคลาวด์ด้วยเทคโนโลยี “สโตเรจบล็อก” อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ มีประชาชนที่หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ 3,431 ราย มูลค่าความเสียหาย 1,558,120,345.82 บาท

โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นภายในเวลา 6 เดือน และได้ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.65 ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 ได้พิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้ว มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในคดีหมายเลขดำ อ 1616/2565 แล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ย.67 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวว่า บริษัท คอนเซ็ปต์ ซีรี่ส์ จำกัด จำเลยที่ 1, นายศุภสรร  จำเลยที่ 2, บริษัท สโตเรจซิตี้ แพลตฟอร์ม จำกัด จำเลยที่ 3 โดยมี นายศุภสรรฯ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัท, น.ส.พิมพ์ณดา จำเลยที่ 4, นายจักรพันธ์ จำเลยที่ 5 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการบริษัททั้งสองแห่ง และน.ส.สุภาพร จำเลยที่ 7 มีหน้าที่จัดการด้านการเงินของบริษัทและมีหน้าที่ในการเบิกถอนเงินเพื่อจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เสียหาย โดยเห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 มีความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 เป็นการหลอกลวงผู้เสียหายหลายครั้งหลายคราวต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกแต่ละคราวเป็นความผิด 3,413 กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกตามผู้เสียหายแต่ละคนทุกกระทงไป ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทงละ 500,000 บาท รวม 3,413 กระทง แล้วปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รายละ 1,706,500,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 กระทงละ 5 ปี รวม 3,413 กระทง เป็นจำคุกคนละ 17,065 ปี

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 รายละ 853,250,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 6,826 ปี กับอีก 20,478 เดือน แต่ความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 คนละ 20 ปี และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่ผู้เสียหาย และร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายนับแต่วันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 น.ส.กนกพร

กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมายังพี่น้องประชาชนให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการถูกชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่มีการเสนออัตราผลประโยชน์ตอบแทนจำนวนที่สูงในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพได้โดยง่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง