ศาลอาญา รับฝากขังครั้งที่สี่ 18 บอสดิไอคอน หลังถูกเเจ้งข้อหาเพิ่ม ฉ้อโกง-แชร์ลูกโซ่ ขยายระยะเวลาฝากขังเป็น 84 วัน เผยพฤติกรรมเน้นหาสมาชิก หลอกผู้เสียหายกว่า 9 พันคน อ้างได้ผลประโยชน์สูงสุดถึงร้อยละ 480 มีบัญชีพยานต้องสอบอีก 4,500 ปาก
วันนี้ (22 พ.ย.67) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางมายื่นคำร้องขอฝากขัง นายวรัตน์พล หรือบอสพอล อายุ 41 ปี กับพวกรวม 18 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชนดิไอคอนกรุ๊ป โดยคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 นี้ได้เเนบคำร้องเเจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาเพิ่มเติมมาด้วย สรุปพฤติการณ์ได้ว่า 1. ตามคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 ลงวันที่ 8 พ.ย.2567 ของพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ในระหว่างการสอบสวนมีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย.-22 พ.ย.2567 นั้น
ข้อ 2 คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือเรื่อง "ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีมีการร้องทุกข์กล่าวโทษในการกระทำความผิดอาญาอันเป็นคดีพิเศษ" มาพร้อมสำนวนการสอบสวนคดีอาญา จำนวน 92,289 แผ่น กรณีดำเนินคดีกับบริษัท ดีไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มาให้พิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขการรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้เสนอเรื่องเข้าการประชุมคณะกรรมการกลั่นกลองการรับคดีพิเศษ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ และได้มีมติเอกฉันท์ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นการร่วมกันกระทำผิดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มขบขบวนการมีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ คดีมีความยุ่งยากสลับซับช้อน ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างทั่วราชอาณาจักร โดยมีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายทางเชิงเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอันมีลักษณะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ประกอบกับความผิดดังกล่าวเป็นความผิดตามประกาศบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีดิพิเศษมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ข้อ 1,15 จึงเห็นควรเสนออธิบดีกรมสอบคดีพิเศษ มีคำสั่งให้กรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษและมอบกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
ต่อมาวันที่ 30 ต.ค.2567 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ จึงได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 และได้มีคำสั่งแต่งตั้งตั้งคณะพนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมาย โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการประชุม 4 พ.ย.2567 โดยนำข้อเท็จจจริงที่พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทำการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว มาพิจารณาประกอบกับคำให้การของพยานเจ้าหน้าที่ เห็นว่าบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัท ที่จดทะเบียนตามกฎหมายมีวัตถุประสงค์หลักคือ การหากำไรจากการประกอบธุรกิจ "ตลาดแบบตรง" ที่ต้องจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ จำนวน 15 รายการ จากบริษัทฯ ตรงไปยังผู้บริโภคผ่านระบบออนไลน์ แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการสืบสวนสอบสวน ในชั้นนี้รับฟังได้ความว่า บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก ใช้มีการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏกับบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ด้วยการโฆษณาบนเฟซบุ๊กของบริษัทหรือของสมาชิก เพื่อชักชวนประชาชนทั่วไปเข้าเรียนหลักสูตรอบรมออนไลน์ที่บริษัทจัดขึ้น
รวมถึงการสัมมนา หรือการบอกกล่าวปากต่อปากนำไปสู่การเชิญชวนบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ด้วยการเปิดรับเข้าเป็นสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าของบริษัทไปจำหน่ายต่อ โดยมีการให้สัญญาว่าจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลตอบแทนตามแผนธุรกิจที่กำหนด จึงเป็นการ "กู้ยืมเงิน" โดยมี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด เป็น "ผู้กู้ยืมเงิน" และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกในการร่วมธุรกิจเป็นตัวแทนขายสินค้าเป็น "ผู้ให้กู้ยืมเงิน" ตามนิยามในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ และในการดำเนินธุรกิจเน้นการระดมสมาชิกเข้ามาเป็นเครือข่ายในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะระดับ dealer โดยจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงประกอบกับผลตอบแทนในการประกอบธุรกิจในระดับ dealer get dealer ขั้นต่าง ๆ มีผลตอบแทนคำนวณเมื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยแล้วพบว่ามีอัตราสูงมาก ตั้งแต่ร้อยละ 48-480 ต่อปี
ทั้งที่ช่วงเกิดเหตุในคดีนี้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินสูงเพียงร้อยละ 4 ต่อปี จึงเป็นผลตอบแทนที่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงว่าที่ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4วรรคหนึ่ง กำหนดไว้
นอกจากนั้น ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ต้องมีรายได้จากการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงตามรูปแบบธุรกิจที่จดทะเบียนไว้ แต่ในข้อเท็จจริงการดำเนินธุรกิจกลับไม่เน้นให้สมาชิกจำหน่ายสินค้าออกสู่ผู้บริโภค โดยในการชักชวนสัมมนา จะเน้นให้สมาชิกหาเครือข่ายสมาชิกของตน (Downline) เพื่อขายสินค้าจากตนลงไปภายในเครือข่ายจนถึงระดับล่างสุดเป็นหลัก ที่อาจมีบางรายที่นำสินค้าไปขายจริงบางส่วนเท่านั้น โดยรายได้ของบริษัทที่นำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนสมาชิกในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะ dealer ค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นมาจากเงินส่วนแบ่งที่ได้จากสมาชิกระดับล่างในสายงานของตนลงไป ทั้งในรูปแบบค่าชักชวน และหรือค่า tp เป็นองค์ประกอบสำคัญ
อีกทั้งระบบของบริษัทก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อสินค้าจากบริษัทไปบริโภคได้โดยตรง โดยต้องดำเนินการผ่านเครือข่ายสมาชิก และยังได้ปรากฎข้อเท็จจริงอีกว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้หลักจากการประกอบธุรกิจด้วยการขายสินค้าสู่ผู้บริโภคทีเพียงพอ และเป็นธุรกิจที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน รู้หรือควรรู้ว่าในการประกอบธุรกิจ ตนจะนำเงินจากผู้ลงทุนรายหนึ่งมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ลงทุนอีกรายหนึ่ง และรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ ประกอบกับตามข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แจ้งข้อหามาแล้วนั้นแม้ผู้ต้องหาทั้งหมดจะไม่ได้ทำความผิดครบตามองค์ประกอบทุกคน แต่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนว่ามีการร่วมกันกระทำการในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ
เหตุเกิดที่ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักร จึงมีมติเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหาเเก่ผู้ต้องหานี้ ในความผิดฐานดังกล่าว และเปลี่ยนลำดับผู้ต้องหาตามลำดับความสำคัญของพฤติการณ์ในคดี
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและฐานความผิดเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทุกรายให้ทราบว่า "ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน,ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น,ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต" ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
โดยนายวรัตน์พล ผู้ต้องหาที่ 2 ขอให้การเป็นหนังสือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบข้อกล่าวหา การกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดตามความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ, พ.ร.บ.ขายตรงฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19,20
บัดนี้ จะครบกำหนดเวลาฝากขังครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 พ.ย.2567 สำหรับผู้ต้องหาที่ 19 (เดิม) ซึ่งเรียงลำดับใหม่เป็นผู้ต้องหาที่ 2 หากแต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องทำการสอบปากคำพยาน จำนวน 4,500 ปาก, พยานฝ่ายผู้ต้องหา จำนวน 400 ปาก ต้องรอผลการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินจากธนาคารต่าง ๆ, รอผลการตรวจสอบจากศูนย์ชื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์, รอการตรวจสอบเอกสารที่ได้ทำการยึดไว้, ตรวจสอบเอกสารและวัตถุของกลางของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการสอบสวนกลาง และรอผลการตรวจวัตถุพยานทางอิเล็กทรอนิกส์ของกลาง ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวจึงขออนุญาตศาลให้ฝากขังผู้ต้องหานี้ไว้ระหว่างการสอบสวนต่ออีก 12 วัน นับแต่วันที่ 23 พ.ย.-4 ธ.ค.2567
ท้ายคำร้องระบุว่า หากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ประกอบกับมีผู้เสียหายเบื้องต้นประมาณ 9,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายถึง 2,956,274,931 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอาจหลบหนีได้หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยศาลอาญาพิจารณาแล้วอนุญาตฝากขัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมซึ่งเป็นข้อหาที่มีอัตราโทษถึง 10 ปี และศาลอนุญาตฝากขังในข้อหาดังกล่าวแล้ว จะทำให้สามารถยื่นฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 ครั้ง (84 วัน) จากเดิมที่สามารถยื่นฝากขังได้ 4 ครั้ง (48 วัน)