เช้านี้ที่หมอชิต - ผลจากคำพิพากษาคดี "แอม ไซยาไนด์" ที่ศาลฯ พิพากษาว่า "แอม" กระทำผิดจริง และสั่งประหารชีวิต ก็ทำให้อีก 14 คดีที่เหลือ ตำรวจค่อนข้างมั่นใจจะเอาผิดได้เช่นกัน จึงนำสำนวนคดีไปส่งให้อัยการพิจารณา เพื่อส่งฟ้องรวดเดียวทั้งหมด
พลตำรวจโท ธนายุตม์ วุฒิจรัสธํารงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทีมงาน นำเอกสารสำนวนการสอบสวนคดี นางสรารัตน์ หรือ แอม ไซยาไนด์ วางยาสังหารเหยื่อ 14 คดี ส่งมอบ นายสัญจัย จันทร์ผ่อง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา
หลังศาลพิพากษาคดีแรก นางสาวศิริพร หรือ ก้อย ผู้รอดชีวิต ในพื้นที่ สภ.บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตำรวจนำคำพิพากษามาเชื่อมโยงและร้อยเรียงการสอบสวน มุ่งหาแรงจูงใจในการก่อเหตุ ก่อนวางแผนลงมือก่อเหตุเพียงลำพัง หลายพื้นที่
คือ ตำรวจภูธร ภาค 7 จำนวน 11 คดี, ภาค 4 จำนวน 2 คดี และ นครบาล 1 คดี รวมผู้เสียชีวิต 14 คน และบาดเจ็บสาหัส 1 คน ตั้งแต่ปี 2558 -2566 นานกว่า 8 ปี แม้ไม่มีประจักษ์พยานในเหตุการณ์ แต่ทีมสืบสวนมั่นใจว่า มีพยานหลักฐานแน่นหนา โดยเฉพาะพยานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนการอุทธรณ์เป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ จนถึงชั้นฎีกา แต่ตำรวจปรึกษากับอัยการระหว่างทำสำนวน จึงเชื่อมั่นว่า สำนวนคดีมีความแน่นหนา
ด้าน นายสัญจัย อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา หลังรับสำนวนคดี แอม ไซยาไนด์ ระบุว่า เตรียมตั้งอัยการขึ้นมาพิจารณาสำนวนคดี ส่วนจะเป็นใคร หรือ จัดตั้งรูปแบบคณะทำงานหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งยังไม่กำหนดกรอบระยะเวลา
ส่วน ทนายพัช ที่ศาลพิพากษาในคดีร่วมกับ แอม ไซยาไนด์ นำกระเป๋าของกลางไปซ่อนเร้น จากพยานหลักฐานพบว่า ทนายพัช มีส่วนรู้เห็นในการช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด รวมทั้งอดีตสามีตำรวจที่ถูกศาลพิพากษา ย้ำว่า แม้มีการดำเนินคดีทางวินัยแล้ว ทางคดีอาญาหากศาลตัดสินก็จะมีการลงโทษแน่นอน
สำหรับคดีนี้ สำนวนแรก ศาลอาญา พิพากษาประหารชีวิต นางสรารัตน์ และพิพากษาจำคุก พันตำรวจโท วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตสามี เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และจำคุก นางสาวธันย์นิชา เอกสุวัณวัฒน์ หรือ ทนายพัช 2 ปี ข้อหา ช่วยเหลือผู้กระทำผิดมิให้ต้องรับโทษ
โดย พันตำรวจโทวิฑูรย์ และ ทนายพัช ได้รับการปล่อยชั่วคราว ศาลตีหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท ต่อมา ทนายพัช ยื่นถอนตัวจากการเป็นทนายความของแอม อ้างว่ามุมมองทางการต่อสู้คดีแตกต่างกัน