กรมชลฯ เร่งเข้าพื้นที่น้ำท่วมใต้ ระบายน้ำโดยเร็วที่สุด

กรมชลฯ เร่งเข้าพื้นที่น้ำท่วมใต้ ระบายน้ำโดยเร็วที่สุด

View icon 150
วันที่ 28 พ.ย. 2567 | 12.02 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำพื้นที่ภาคใต้ด่วน! กำชับ เฝ้าระวังสถานการณ์พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชม.

วันนี้ (28 พ.ย.67) นาง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องจักร-เครื่องมือก่อนเกิดภัย รวมทั้งระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ จากพื้นที่ที่ไม่มีอุกทภัย เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือง ภาคกลาง มาสู่พื้นที่ภาคใต้ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ประจำและดำเนินการในพื้นที่จุดเสี่ยงอุทกภัยต่างๆ ในการพร้อมลดปัญหาที่เกิดอุทกภัยและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง ตลอด 24 ชั่วโมง และกำชับว่า จะต้องติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำในลำน้ำ น้ำท่วมขังในพื้นที่ เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ในช่วงน้ำทะเลลง ให้เร่งระบายน้ำผ่านอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำลงสู่ทะเล ส่วนในช่วงน้ำทะเลหนุนให้ดำเนินการปิดประตูระบายน้ำ และเร่งสูบน้ำออกอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมชลประทานร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัย

ข้อมูลล่าสุด (28 พ.ย)  จังหวัดนครศรีธรรมราช มีปริมาณฝนตกมากบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช ทำให้มีปริมาณน้ำหลากจากภูเขาและน้ำในพื้นที่ลงมาสู่คลองท่าดี ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลลงสู่อ่าวไทย โดยการดำเนินการช่วยเหลือ ในช่วงน้ำทะเลลง ใช้เครื่องผลักดันน้ำระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำและประตูระบายน้ำเร่งระบายออกสู่ทะเล ส่วนช่วงน้ำทะเลหนุนจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ได้ติกตั้งก่อนเกิดอุทกภัยเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่สู่ทะเล

จังหวัดสงขลา สถานการณ์ประสบอุทกภัยบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอำเภอระโนด อำเภอสะเดา และอำเภอสะบ้าย้อย กรมชลประทานได้ดำเนินการสูบน้ำเร่งการระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมของตัวเมืองหาดใหญ่ โดยมีการซักซ้อมและทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่จะไหลผ่านตัวเมืองหาดใหญ่ โดยใช้ระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำ ร.1 ให้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าว

ในส่วนของจังหวัดในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย

จังหวัดปัตตานี มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ทางต้นน้ำได้ใช้เขื่อนบางลางในการชลอน้ำไม่ระบายมากระทบต่อพื้นที่ตอนล่าง ประกอบกับได้ใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่อ่าวไทย

จังหวัดยะลา ที่มีแม่น้ำสายบุรีไหลผ่าน เกิดอุทกภัยในพื้นที่อำเภอยะหา และอำเภอรามัน ได้ใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่อ่าวไทย

จังหวัดนราธิวาส ที่มีแม่น้ำโก-ลกไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำโก-ลก มีต้นน้ำมาจากประเทศมาเลเซีย กรมชลประทานได้มีการประเมินและบริหารจัดการร่วมกับประเทศมาเลเซีย ทางด้านการติดตามและการแจ้งเตือนสถานการณ์มายังประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ในส่วนอุทกภัยที่เกิดขึ้นในอำเภอเมือง บาเจาะ ยี่งอ รือเสาะ และแว้ง ได้ใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่อ่าวไทย