ย้ายชาวบ้านออกจากศูนย์อพยพ

View icon 40
วันที่ 28 พ.ย. 2567 | 20.10 น.
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - น้ำท่วม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง วิกฤตหนัก เพราะฝนตกไม่หยุด ทำให้น้ำเพิ่มต่อเนื่อง ต้องย้ายชาวบ้านในศูนย์อพยพออกไปอยู่ที่ปลอดภัย

ย้ายชาวบ้านออกจากศูนย์อพยพ
ชาวบ้านนับร้อยคนในศูนย์อพยพ อบต.เทพา จังหวัดสงขลา ต้องเก็บเสื้อผ้า ข้าวของอพยพกันอีกครั้ง เพราะฝนที่ตกหนักลงมาอย่างหนัก ทำให้ระดับน้ำท่วมรอบ ๆ ศูนย์อพยพฯ เพิ่มสูงขึ้นจนเกือบจะไหลเข้าในศูนย์อพยพฯ แล้ว แต่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยังจมอยู่ในน้ำ ไม่รู้จะเคลื่อนย้ายอย่างไร เพราะถนนก็ถูกน้ำท่วม บางหมู่บ้านระดับน้ำสูงกว่า 2 เมตร

อพยพวัวชน 25 ตัว หนีน้ำท่วม
เช่นเดียวกับวัวชน 25 ตัว ก็ต้องจูงฝ่าน้ำท่วมที่สูงเกือบมิดตัววัว ออกมาจากสนามวัวชนที่อำเภอนาทวี อย่างทุลักทุเล เพื่อไปอยู่ที่ปลอดภัย ห่างจากจุดน้ำท่วมกว่า 2 กิโลเมตร เพราะน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว กลัววัวจะอันตราย เพราะแต่ละตัวราคานับแสนบาท

น้ำท่วมสูงต้องพายเรือเข้า-ออก หมู่บ้าน
แม่น้ำปัตตานี ที่สูงขี้นอย่างต่อเนื่อง ได้ล้นตลิ่งท่วมริมแม่น้ำ โดยเฉพาะที่ตำบลปะกาฮารัง อำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบหนักสุด ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 500 ครัวเรือน บางหมู่บ้านต้องพายเรือเข้า-ออก ไปหาซื้อเสบียงอาหาร เพราะการช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง

น้ำท่วมเกือบเต็มพื้นที่
ส่วนภาพมุมสูงที่เห็นอยู่นี้ เป็นน้ำท่วมตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่จังหวัดยะลา ตอนนี้ประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ เช่นเดียวกับที่อำเภอเบตง ต้นไม้ใหญ่ และดินจากภูเขาไหลลงมาทับบ้านชาวบ้านริมถนนสาย กม.7-บ้านธารไม้แก้ว ตำบลตาเนาะแมเราะ พังเสียหายไป 2 หลัง

ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฯ ทั้งจังหวัด
ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน จากสภาวะน้ำท่วมแล้วทั้ง 13 อำเภอ เพื่อให้ใช้งบประมาณฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ทันท่วงที เพราะตอนนี้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้

ขณะที่ นายกรัฐมนตรี สั่งติดตามสถานการณ์ พร้อมให้กระทรวงกลาโหม ส่งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เครื่องจักรกล เรือท้องแบน สิ่งของอุปโภคบริโภค ช่วยเหลือประชาชน เช่นเดียวกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะนำเครื่องสูบน้ำจากภาคเหนือ และอีสาน ไปช่วยเร่งการระบายน้ำลงทะเล และบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME D Bank) เตรียม 2 มาตรการช่วยผู้ประสบอุทกภัย ทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สูงสุด 12 เดือน และมาตรการ เติมทุนฟื้นฟูกิจการ ทั้งสินเชื่อฉุกเฉิน และ สินเชื่อ Boost Up ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันรับคำขอกู้ในวันที่ 30 ธันวาคมนี้

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง