เวลา 16.22 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปในงาน "Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6-7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ทรงเป็นประธานการเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่ระดับสากล และเปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย หรือ FTFD ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตั้งขึ้นตามแนวพระดำริฯ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาผ้า และงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทย เป็นที่รู้จักในนานาประเทศ สร้างวิชาชีพและรายได้กลับคืนสู่เศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน จดทะเบียนก่อตั้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับเป็นนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ฯ
จากนั้น ทรงฟังการเสวนาในหัวข้อ "การออกแบบแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล" โดย นายพลพัฒน์ อัศวประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ตลอดจนดีไซเนอร์, บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น รวมทั้งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของคลับ 21 (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานของสมาคมฯ โดยการรวมตัวนักออกแบบไทยที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการ Coaching ผู้เข้าร่วมโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" ตั้งแต่ปี 2563-2567 อันจะเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้มแข็งยั่งยืนผ่านการให้ความรู้ ทักษะ เพื่อการยกระดับคุณภาพวงการแฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ รวมทั้งผลักดันให้ตลาดอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเข้มแข็ง มีศักยภาพ สามารถแข่งขันกับตลาดสากล และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานกับภาครัฐ สื่อมวลชน และกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดและการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ทั้งยังมีแผนจัดกิจกรรมจิตอาสาลงพื้นที่ร่วมกับชุมชน อาทิ ให้คำแนะนำแนวทางการออกแบบผ้าไทยให้ทันสมัย เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และส่งเสริมงานหัตถศิลป์ในชุมชน เพื่อจุดประกายการสร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบสานงานที่บรรพบุรุษและชุมชนได้สร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้มรดกทางภูมิปัญญาสูญหายจากท้องถิ่น
งาน "Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" จะจัดถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้ โดยจัดแสดงนิทรรศการผลสำเร็จจากโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" เช่น โครงการชาติพันธุ์โมเดล, โครงการยกระดับและพัฒนาวิชชาลัยชุมชนฯ เพื่อการสร้างสรรค์งานผ้า งานคราฟท์ และงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ไทย, โครงการดอนกอยโมเดล, บาติกโมเดล, โครงการจักสาน, โครงการ Premium OTOP, โครงการ Young OTOP และโครงการ New Gen Young Designer รวมทั้งการสาธิตภูมิปัญญาผ้าไทย อาทิ การสาวไหม และการปักผ้า จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ, การสาธิตดุนทองจากสถาบันสิริกิติ์ และสาธิตการทำบาติกจากกลุ่มมีดี นาทับ ตลอดจนจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ 200 ร้านค้า ที่เข้าร่วมโครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และ OTOP ชวนชิม 50 ร้านค้า