สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2567

View icon 170
วันที่ 30 พ.ย. 2567 | 20.01 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 14.57 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังหอประชุมหยาดปัญญา อพ.สธ.ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ทรงเปิดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ปี พ.ศ. 2567 ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2567 ภายใต้แนวคิด "ความสมดุลบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" มีสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น,หน่วยงานสนองพระราชดำริ และเครือข่ายโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ อพ.สธ. ทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติฯ และสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชน เห็นคุณค่าของทรัพยากรไทย ซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน
      
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการ อพ.สธ.สวนจิตรลดา "30 เรื่องเล่า 30 ปีสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน จากบ้านของพ่อสู่มหาชนชาวสยาม" จัดแสดงเรื่องราวบ้านของพ่อ ต้นกำเนิดพันธุ์ข้าวพระราชทาน, ป่าสาธิต ณ สวนจิตรลดา, ขนุนไพศาลทักษิณ พืชเอกลักษณ์ในพระบรมมหาราขวัง, การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช พระราชดำริสู่แนวคิดในการอนุรักษ์, และการจัดตั้ง อพ.สธ.เมื่อปี 2535 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

มีการนำเสนองานวิจัย 8 เรื่อง ได้แก่ ประวัติจากอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต ของ อพ.สธ.-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และ Carbon Footprint, การพัฒนาการสีย้อมจากมะพูด และผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยย้อมสีธรรมชาติ, การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมทาผิวจากสารสกัดแจงสุรนารี พืชป่าเฉพาะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธ์, ฟาร์มไข่ผำ ต้นแบบระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ได้รับความนิยม, แพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายขนาดเล็ก "ของขวัญจากธรรมชาติที่ถูกลืม สู่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมฐานทรัพยากรท้องถิ่น", ป่าชุมชนเขาสามสิบส่าง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา : การเกิดกุมภลักษณ์ และกุมภลักษณ์แห่งธารสายฝน อุทยานธรณีโลกโคราช,และไก่โคราช "จากมรดกธรรมชาติ สู่ฐานทรัพยากรไทย สู่การแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ" ซึ่งมีจุดเด่นคือโตเร็ว ไขมันต่ำ โปรตีนสูงและย่อยง่าย ดีต่อสุขภาพ
     
ภายในงานแบ่งเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ นิทรรศการแนวทางอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน, นิทรรศการแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน บนงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน, นิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และศูนย์แม่ข่ายประสานงานทั้ง 5 แห่ง, การประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับภูมิภาค, และการประชุมวิชาการนานาชาติ ที่แสดงความเป็นมาผ่านการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรท้องถิ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางด้านอาหารและเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชุมชนชาวโคราชในอดีต