ศปช. - คลัง ทำงานเร็ว ให้สิทธิด้านการเงินให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในโครงการปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา "พักต้น พักดอก ลดดอกเบี้ย" นายกฯ มั่นใจ ศก.พลิกฟื้นแน่นอน ยืนยันช่วยน้ำท่วมภาคใต้แบบเดียวกับภาคเหนือ
วันนี้ (1 ธ.ค.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน “ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อให้ประชาชน ที่บริเวณด่านศุลกากรแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รายงานถึงการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ว่า สถาบันการเงินของรัฐได้จัดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน อาทิ มาตรการพักต้น พักดอก การลดดอกเบี้ยตามเกณฑ์สำหรับกลุ่มที่ประสบอุทกภัยและกลุ่มที่ไม่ประสบอุทกภัย ขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงที่มีแนวโน้มที่ดี รวมทั้งการเติมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ภาครัฐ ให้เหมือนเช่นเดียวกับสถาบันการเงินภาครัฐ ล่าสุด กรมบัญชีกลาง ได้ปรับวงเงินฉุกเฉินเพิ่มเติมเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สามารถนำงบประมาณไปช่วยเหลือได้ทั้งการช่วยเหลือประชาชนและการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธาน เพื่อมอบสินเชื่อในโครงการ ดังนี้
1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) (มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ลูกค้า ผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ)
2. ธนาคารออมสิน (สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ งบประมาณโครงการออมสินสารพัดซ่อม-วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย)
3. ธนาคารกรุงไทย (มาตรการเคียงข้างผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยการ ลดดอกเบี้ย ลดค่างวดชำระหนี้และ ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ)
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (โครงการมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2567)
5. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) (สินเชื่อเติมทุนฉุกเฉิน ฟื้นฟูกิจการ)
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ)
7. บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (SMEs ฟื้นฟู - No One Left Behind - ช่วยเหลือ เยียวยา ผู้ประสบภัยน้ำท่วม)
8. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Green Development Bank - ปรับ ฟื้น คืนสุข เมืองล้านนา สู่การค้าโลกและ บริการประกันส่งออก EXIM for Small BIZ)
9. กรมธนารักษ์ (สำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงราย) มาตรการช่วยเหลือผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย)
10. กระทรวงมหาดไทยมอบเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 15,040,000 บาท ค่าทำความสะอาดดินโคลน และซากวัสดุ ครัวเรือนละ 10,000 บาท จำนวน 1,504 ครัวเรือน
นายกฯ กล่าวขอบคุณที่ทุกท่านช่วยกันฟื้นคืนพื้นที่อุทกภัยให้กลับมาเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว และดีใจที่ได้มาเห็นบรรยากาศสดชื่นแจ่มใสในวันนี้ ขอบคุณคณะรัฐมนตรี ศปช. และข้าราชการ ทุกภาคส่วนที่ได้ประสานความร่วมมือร่วมใจผลักดัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยาให้เร็วที่สุดเช่นเดียวกัน
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ ได้ติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา ได้สั่งการรองนายกฯ และรัฐมนตรีลงพื้นที่ทันที และจะต้องใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเดียวกันกับน้ำท่วมภาคเหนือที่ผ่านมา
นายกฯ กล่าวอีกว่า ภัยน้ำท่วม ถือเป็นภัยที่ประชาชนทั้งประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศก้าวหน้า ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าในมาตรการต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นและจะดียิ่งขึ้นต่อไป
จากนั้น นายกฯ ได้เดินชมบูธ ที่แสดงมาตรการด้านการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 67 พร้อมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และทักทายประชาชนที่อยู่ภายในงาน