บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ รอทำฟันไม่เกิน 30 นาที

บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ รอทำฟันไม่เกิน 30 นาที

View icon 519
วันที่ 4 ธ.ค. 2567 | 15.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ข่าวดี สิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ รอทำฟันไม่เกิน 30 นาที ใช้สิทธิได้ 3 ครั้ง/ปี ประชาชนเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว 1.8 แสนคน

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย ทพ.วิวัฒน์ ฉัตรวงศ์วาน กรรมการทันตแพทยสภา วาระที่ 11 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส อ.เมือง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ โดยมี ทพ.เอกภาพ พัทยาวรรณ เจ้าของคลินิกทันตกรรม ซี สไมล์พลัส ให้ข้อมูลบริการ

ทพ.เอกภาพ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม 30 บาทรักษาทุกที่ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 โดยมีประชาชาชนสิทธิบัตรทอง เข้ามารับบริการจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้มารับบริการที่คลินิกทันตกรรมเพิ่มขึ้น 25% คลินิกจึงได้เพิ่มทันตแพทย์ และพนักงานผู้ช่วยทันตแพทย์เพื่อให้เพียงพอรองรับการบริการ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนานวัตกรรมการบริการ เป็นระบบที่จับเวลารอคอยการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ หากเกินกว่า 30 นาที ระบบจะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ เพื่อให้จัดคิวการรับบริการให้คล่องตัวและไม่ให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน และให้เตรียมห้องทันตกรรมที่พร้อมเพื่อเข้ารับบริการในทันที

ในช่วงแรกของการเข้าร่วมให้บริการ การเบิกจ่ายชดเชยอาจมีความไม่คล่องตัวและมีอุปสรรค โดยเพาะการบันทึกข้อมูลการให้บริการในระบบ แต่หลังจากเรียนรู้กับระบบการเบิกจ่ายของโครงการนี้ ก็ไม่มีปัญหา การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการก็ราบรื่น ทำให้คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมมีสภาพคล่อง ในอนาคตอยากให้เพิ่มสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากให้มากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนครั้งการรับบริการที่คลินิกทันตกรรมมากขึ้น จากปัจจุบันที่ให้สิทธิรับบริการ 3 ครั้ง/คน/ปี เพื่อสุขภาพช่องปากของประชาชน ในการเข้ารับบริการที่ตามสิทธิ์บัตรทอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า บริการทันตกรรมภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยประชาชนเข้ารับบริการได้ 3 ครั้งต่อคนต่อปี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว 1.8 แสนคน หรือเฉลี่ย 1.8 ครั้งต่อคน ในพื้นที่ 46 จังหวัดที่เดินหน้านโยบาย ประชาชนสามารถไปรับบริการจากคลินิกภาคเอกชนได้เหมือนกับไปรับบริการที่โรงพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงกับเป้าหมายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้สะดวก ในส่วน 31 จังหวัดที่เหลือในการดำเนินการ 30 บาทรักษาทุกที่ ขณะนี้มีคลินิกทันตกรรมจากภาคเอกชนสมัครเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง