ข่าวเย็นประเด็นร้อน - หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีแนวคิดจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% ทำให้หลายคนกังวลว่าจะทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ขณะที่วันนี้ นายกฯ ออกมายอมรับว่า เข้าใจการขึ้น VAT จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
เช้าวันนี้ ที่ท้องสนามหลวง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร พร้อม นายปิฎก สุขสวัสดิ์ คู่สมรส เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 189 รูป เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2567
หลังเสร็จสิ้นพิธี นางสาวแพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีแนวทางปรับปรุงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 15% ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ว่า เดี๋ยวนายพิชัยจะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียด ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าถ้ามีการขึ้นภาษีดังกล่าวจะเดือดร้อน นางสาวแพทองธาร กล่าวเพียงสั้น ๆ เข้าใจ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยออกมาชี้แจงว่า แนวคิดการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลอยู่ในระหว่างการศึกษา เรื่องนี้ขอดูการศึกษา ต้องดูข้อดีข้อเสีย แต่จะตัดสินใจอย่างไร ต้องดูผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ส่วนจะใช้ระยะเวลาการศึกษานานขนาดไหนนั้น ก็ต้องดูทั้งหมดในภาพรวม
โดยนายพิชัยเคยบอกว่า ทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ส่วนสิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บที่ 20%
นายพิชัย มองว่า หากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวยและคนจนได้ เนื่องจากการบริโภคเป็นไปตามฐานะของบุคคล คนรวยมากก็บริโภคมาก ส่วนคนรายได้น้อยจะบริโภคน้อย ดังนั้นหากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหมายความว่าทุกคนจ่ายต่ำ ยอดการจัดเก็บรายได้รัฐก็จะมีน้อย แต่หากเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่สูงขึ้นได้ เงินกองกลางหรือรายได้รัฐก็จะใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสามารถนำรายได้ดังกล่างจัดสรรงบประมาณ และส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่าง ๆ
ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ บอกว่า ส่วนตัวเข้าใจว่า รัฐบาลต้องการหารายได้ภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการขึ้น VAT เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยหรือเปราะบาง แต่การเพิ่มอัตราภาษี VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น และลดกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หากปรับขึ้นทันที จะส่งผลกระทบหนักแน่นอน เพราะจัดเก็บในอัตราที่สูงมากกว่าหนึ่งเท่าตัว จึงจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบด้าน ถึงผลดีผลเสียที่จะได้ เพราะรายได้ของประชาชนยังเท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัว จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับขึ้น VAT ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา ทั้งนี้ ควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ หากมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเป็น 15% ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้นจากเดิมอีก 8% เช่น ราคาน้ำดื่ม ขนาดขวด 600 มิลลิลิตร ปกติซื้อกันประมาณ 10 บาทต่อขวด หากปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 15% เท่ากับราคาน้ำดื่มอาจปรับเพิ่มเป็น 10 บาท 80 สตางค์ต่อขวด หรือ ปลากระป๋องจากปกติราคาประมาณ 18 บาท อาจจะขึ้นเป็น 19 บาท 44 สตางค์
ถ้าของราคาถูก ราคาอาจขึ้นไม่เยอะ แต่ถ้าของมูลค่ายิ่งมาก เช่น ไปทานอาหารในห้างสรรพสินค้า ปกติเคยจ่ายประมาณมื้อละ 500 บาทรวม VAT 7% แต่ถ้า VAT 15% เราต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้นอีก 40 บาทเป็น 540 บาท และถ้าซื้อสินค้า 1,000 บาท เราต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีก 80 บาท เป็น 1,080 บาท สรุปง่าย ๆ คือ ทุก ๆ 100 บาท ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 8 บาท
อย่างไรก็ตาม การขึ้น VAT อาจไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ เพราะก่อนหน้านี้ ในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้คงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่ที่ 7% ต่อไปอีก 1 ปี ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 67-30 กันยายน 2568 ซึ่งความจริงแล้ว VAT ของประเทศไทยที่แท้จริงอยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2535 แต่เมื่อปี 2540 มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT เหลือ 7% เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประเทศเจอวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมา VAT เหลือ 7% มาตลอดจนถึงปัจจุบัน