"กูเกิล" ประสบความสำเร็จในการพัฒนาชิพควอนตัมรุ่นใหม่ ที่สามารถประมวลผลได้เร็วกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทั่วไปอย่างไม่น่าเชื่อ พร้อมเผยเทคโนโลยีแก้ไขข้อผิดพลาดแบบเรียลไทม์ครั้งแรกของโลก
จักรวาลคู่ขนาน หรือ Multiverseที่เคยเห็นในภาพยนตร์ อาจไม่ใช่เรื่องในจินตนาการอีกต่อไป หลัง กูเกิล (Google) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญในการพัฒนาชิพควอนตัมรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า "วิลโล่ว์" (Willow) ซึ่งประกอบด้วยคิวบิต (qubit) จำนวน 105 ตัว โดยสามารถประมวลผลการทดสอบมาตรฐานได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในปัจจุบันต้องใช้เวลาถึง 10 เซปติลเลียนปี ซึ่งยาวนานกว่าอายุของจักรวาล
บริษัทเผยว่าผลการทดสอบนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าการประมวลผลแบบควอนตัมนั้นเชื่อมโยงกับจักรวาลคู่ขนานหลายมิติ (Multiverse) นอกจากนี้ ยังสามารถแก้ปัญหาสำคัญของการประมวลผลแบบควอนตัมที่มักเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย แม้จากอนุภาคขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ผ่าน โดยพัฒนาระบบแก้ไขข้อผิดพลาดแบบเรียลไทม์ขึ้นเป็นครั้งแรก
กูเกิลระบุว่า แม้ในสภาวะที่เหมาะสมที่สุด คอมพิวเตอร์ทั่วไปจะต้องใช้เวลาถึงหนึ่งพันล้านปีในการประมวลผลให้ได้ผลลัพธ์เดียวกับ "วิลโล่ว์" Willow โดยชิพรุ่นใหม่นี้ถูกผลิตขึ้นที่โรงงานเฉพาะทางในเมืองซานตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ในขณะที่บริษัทคู่แข่งมุ่งเน้นการพัฒนาชิพที่มีจำนวนคิวบิตมากขึ้น แต่กูเกิลเชื่อว่าการปรับปรุงความน่าเชื่อถือของระบบเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริง ซึ่งอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในด้านปัญญาประดิษฐ์และการแพทย์ในอนาคต