เช้านี้ที่หมอชิต - นับเป็นปีแห่งภัยพิบัติของไทย ทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบหลาย 10 ปี บทเรียนในปีนี้ ภาครัฐ ยืนยัน จะเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัย ให้ทันใช้ภายในปีหน้า
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และที่ยังวิกฤตในพื้นที่ภาคใต้ ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
เวทีเสวนา ยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิอร สิริมงคลเลิศกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยว่า ภัยพิบัติเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากภาครัฐที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือทุกพื้นที่ ก็ต้องวางแผนรับมือเพราะต่างพื้นที่ ก็เจอภัยพิบัติที่ต่างกัน
ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอดบทเรียนอุทกภัยในปีนี้ พบว่า ปัญหาในปี 2567 แตกต่างจากปีก่อน ๆ เพราะฝนตกจุดเดิมซ้ำ ๆ หรือ เกิดปรากฏการณ์ Rain Bomb หนักสุดในรอบ 10 ปี
ทำให้บริเวณ Rain Bomb ระบายน้ำไม่ทัน ปัญหาถัดมาคือ ดินอุ้มน้ำไม่ไหว พังถล่มหลายจุด หลังจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณเชิงเขา พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกพื้นที่กว่า 600 จุดทั่วประเทศ จะพยายามพัฒนาหน้าตัวแจ้งเตือนภัยให้ทันใช้ก่อนเกิดภัยพิบัติอีกครั้ง เพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของพี่น้องประชาชน