ห้องข่าวภาคเที่ยง - เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ 2 คน ที่ทำร้ายผู้ป่วยเลิกเหล้าเสียชีวิต เข้ารับทราบข้อหากับตำรวจ ขณะที่พ่อคนตาย ไม่รับขอขมา
นายอนุภาพ และนายทักษ์ดนัย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เข้าไปกับตำรวจเมื่อคืนที่ผ่านมา เพื่อรับทราบข้อหา ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย โดยทั้ง 2 คน ยอมรับว่ามีการผลักแล้วจับทุ่มลงกับพื้นจริง
สาเหตุที่ทำแบบนั้นเพราะคนไข้คลุ้มคลั่ง เลยต้องมีการจับกดลงพื้น เพื่อให้เขาหยุดดิ้น แต่ไม่คิดว่าจะถึงตาย อยากฝากบอกครอบครัวคนตายว่าพวกผมขอโทษ อยากไปขมาศพ
ส่วนพยาบาลอีก 2 คนที่อยู่ในคลิป ยังไม่ถูกแจ้งข้อหา โดยตำรวจจะมีการเรียกทั้ง 2 คน มาอสอบสวน ก่อนหน้านี้ สสจ.ศรีสะเกษ ได้ได้มีคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คน พักราชการ และตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พยาบาลวิชาชีพ 2 คน พร้อมทั้งมีคำสั่งย้ายนายแพทย์ลักษณะเลิศ วรรณภาสนี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกันทรลักษ์ ไปช่วยราชการที่ส่วนกลาง
ส่วนบรรยากาศงานศพเมื่อคืน ก็มีส่วนราชการต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปแสดงความเสียใจกับครอบครัว และพูดคุยเรื่องการเยียวยา เบื้องต้นได้มอบเงินเป็นค่าจัดงานศพ จำนวน 50,000 บาท ส่วนเงินเยียวยา ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ คาดว่าภายใน 1 เดือนน่าจะได้รับ แต่ยังไม่ทราบจำนวนเท่าใด
ส่วนนายทองสุข แก้วรักษา พ่อผู้เสียชีวิต พอทราบว่าเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ทำให้ลูกชายเสียชีวิต บอกไม่ต้องมาขอขมา ไม่รับรองความปลอดภัย
ส่วนเรื่องคดี ได้เข้าให้ปากคำกับตำรวจแล้ว ก็สบายใจ ตำรวจบอกจะทำเต็ม 100 ก็เลยมั่นใจ ส่วนศพลูกชายจะเผาวันเสาร์นี้
เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา พยาบาลวิชาชีพที่ปรากฏในภาพวงจรปิด โดยคนหนึ่งใช้เท้าเหยียบไปที่ข้าผู้ป่วย อีกคนส่งกุญแจมือให้พนักงานชายล็อคแขนผู้ป่วยใส่กุญแจมือ ได้เข้าให้ปากคำกับตำรวจ สภ.กันทรลักษ์ แล้ว
โดยปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใด ๆ ทั้ง 2 คน ใส่หน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า มีสีหน้าเรียบเฉย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าทั้ง 2 คน จะถูกตำรวจแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนถึงแก่ความตายหรือไม่ เหมือนกับเจ้าหน้าที่ชายหรือไม่
เช้านี้ (12 ธ.ค.) มีการประชุมไปทั่วประเทศ เพื่อรับมือผู้ป่วยรุนแรง หลังเกิดเหตุผู้ป่วยคลั่งถูกทำร้ายโดยบุคลากรทางการแพทย์ จนเสียชีวิต
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยจิตเวชที่เพิ่มขึ้นรายวัน และลักษณะอาการก็ต่างกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งหลังจากนี้จะถอดบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำลังสืบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากบุคลากรที่ถือกุญแจมือในคลิป อาจไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล
จากสถิติ นับตั้งแต่ปี 2560-2567 พบว่ามีเหตุการณ์รุนแรงในโรงพยาบาล ทั้งหมด 99 เหตุการณ์ มีบุคลากรในโรงพยาบาลจิตเวช 312 คน ถูกผู้ป่วยทำร้ายร่างกาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างปฏิบัติหน้าที่นับพันคน
โฆษกกรมสุขภาพจิต ชี้แจงว่า การดูแลผู้ป่วยพฤติกรรมรุนแรง ต้องมีตำรวจ และเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ดูแลตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล และเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้ว จะเป็นหน้าที่ของทีมแพทย์ ที่ต้องเจรจากับผู้ป่วย หากการเจรจาไม่เป็นผล จำเป็นต้องจำกัดพฤติกรรมทางกาย และเฝ้าสังเกตุการณ์
หากผู้ป่วยมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว วิธีสุดท้ายคือการใช้ยา ซึ่งจะอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ