พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงเปิด "สะพานทศมราชัน"

View icon 270
วันที่ 14 ธ.ค. 2567 | 20.01 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 17.24 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ทรงเปิด สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษ ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ในแผนแม่บททางพิเศษพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงการข่ายพิเศษเชื่อมโยงการเดินทางแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการเดินทางจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่-ดาวคะนอง เป็นเส้นทางเลือกของการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาวะไม่ปกติ เช่น การเกิดอุทกภัย

สะพานทศมราชัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา คู่ขนานกับสะพานพระราม 9 เป็นสะพานที่มีความกว้างที่สุดในประเทศ มีระยะทางรวม 2 กิโลเมตร ฝั่งธนบุรี เริ่มที่เชิงลาดสะพานพระราม 9 แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ ส่วนฝั่งพระนคร เริ่มที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา โครงสร้างเป็นสะพานขึง 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีช่องทางสำหรับรถบรรทุก 1 ช่องจราจรต่อทิศทาง ความยาวสะพาน 781.20 เมตร, ความยาวช่วงกลางที่วัดจากศูนย์กลางเสาสูงฝั่งกรุงเทพมหานคร ฝั่งธนบุรี ความยาว 450 เมตร, โครงสร้างสะพานส่วนต่อเชื่อม มีรูปแบบเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง สำหรับสะพานขึงรูปแบบโครงสร้างพื้นสะพานเป็นโครงสร้างคอนกรีตประกอบเข้าโครงสร้างเหล็กที่ง่ายต่อการบำรุงรักษา มีรูปแบบการจัดวางเคเบิลเป็นระบบเคเบิลสองระนาบ รูปแบบเสาสูงเป็นแบบสะพานคู่ที่มีคานยึดระหว่างเสาสะพานคู่ เพื่อให้เสาสะพานมีเสถียรภาพใต้สภาพการใช้งานและการรับแรงลมที่ดีที่สุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานชื่อสะพานทศมราชัน อันหมายถึง "พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 10" และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ เชิญตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประดิษฐาน ณ บนคานยอดเสาสะพานทศมราชัน

แนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ได้รวบรวมข้อมูลจากพระราชประวัติ คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี มาออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สื่อถึงการโอบอุ้ม ปกป้องพสกนิกร, สายเคเบิล เป็นสีเหลือง สื่อถึงวันพระบรมราชสมภพคือ วันจันทร์, โคนเสาสะพาน 4 ต้น มีประติมากรรมรูปพญานาคสีเหลืองทอง แทนปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพ, รั้วสะพานกันกระโดด เป็นลายดอกรวงผึ้งสีทอง ต้นไม้ประจำพระองค์ และราวกันตกริมด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้ดูโปร่ง โดยใช้วัสดุสแตนเลส

เวลา 18.20 น. เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์พิเศษสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน พร้อมครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ด้วยทรงสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ และพระราชทานวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย, ทรงจัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร, ทรงสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาและสวัสดิการสังคมเกือบ 400 โครงการ, ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งคลินิกการเกษตร เกษตรวิชญา เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตร และสร้างหลักสูตรการวิจัยการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ของตน

เวลา 18.38 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี นำคณะกรรมการและที่ปรึกษาของมูลนิธิฯ และผู้สนับสนุน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถตรวจคัดกรองมะเร็งนรีเวช พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สำหรับตรวจภายในสตรีด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง จำนวน 3 คัน พระราชทานแก่มูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อใช้ตรวจค้นหามะเร็งนรีเวชในระยะเริ่มแรกในคราวเดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้สนับสนุนการดำเนินโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานโล่เกียรติคุณด้วย

รถคัดกรองมะเร็งนรีเวช สามารถจะตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รังไข่ และมะเร็งมดลูก ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อมีโอกาสรักษาหายขาด รถแต่ละคันประกอบด้วย ห้องตรวจ 2 ห้อง ห้องลงทะเบียน 1 ห้อง มีบุคลากรทางการแพทย์และเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่องส่องปากมดลูก หรือ เครื่องคอลโปสโคป สามารถขยายให้เห็นเนื้อเยื่อที่ผิดปกติบนปากมดลูกได้อย่างชัดเจน เครื่องตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติบนปากมดลูก ได้แก่ คีมคีบเนื้อ Punch Biopsy และเครื่องตัดชนิดขดลวดที่มีความถี่สูง สามารถตัดชิ้นเนื้อที่มีขนาดใหญ่ขึ้นสามารถห้ามเลือดหรือหยุดเลือดได้ด้วยเครื่องจี้หยุดเลือด นอกจากนี้ ยังมีเครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดใหญ่ สามารถที่จะตรวจหาก้อนที่รังไข่ มดลูกได้สะดวกและแม่นยำอีกด้วย

ข่าวอื่นในหมวด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง