เวลา 08.50 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จไปยังห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพมหานคร ทรงบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง การได้รับสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมสู่การเกิดโรค : ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจากการได้รับสัมผัสสารหนู พระราชทานแก่ผู้เข้าร่วมการประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9
จากนั้น ทรงบรรยายถึงผลการศึกษาวิจัยด้านมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสารเคมีในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย หากได้รับ สัมผัสติดต่อกันเป็นเวลานาน และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างการได้รับสัมผัสจากสารหนู หรือ Arsenic ที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับสารหนู จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์เพิ่มสูงขึ้น
การศึกษางานวิจัยและติดตามผลกระทบของการได้รับสารหนู หรือ Arsenic ต่อสุขภาพเป็นหนึ่งในโครงการศึกษาวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากสารหนู เป็นมลพิษสิ่งแวดล้อมจัดเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากทั่วโลก ผลการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับในวงการวิทยาศาสตร์ และจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปสู่นโยบายเพื่อเฝ้าระวังป้องกัน และลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคในอนาคต
จากนั้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์คำกล่าวพิเศษของ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ที่เน้นย้ำถึงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาสุขอนามัยที่ดีอย่างยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ "ความท้าทายของสุขภาพหนึ่งเดียว : บทบาทของวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และเคมี" ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคม 2567 เนื้อหาหลักสำคัญของการประชุมครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อจากคนสู่คนและจากสัตว์สู่คน, การใช้เทคโนโลยี และพัฒนาการของการค้นคว้าวิจัยและพัฒนายาด้วยแนวทางที่ทันสมัย รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อการเกิดโรค
เวลา 18.32 น. เสด็จไปยังหอประชุมกองทัพเรือ พระราชทานเลี้ยงแก่วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุมวิทยาศาสตร์นานาชาติเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ครั้งที่ 9 ในการนี้ ทอดพระเนตรการแสดงชุด "แผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมี" และการแสดงชุดสีสันวัฒนธรรมไทยจากคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระดำริให้จัดการประชุมขึ้นเป็นประจำทุก 4-5 ปี นับตั้งแต่ปี 2530 โดยในปี 2567 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าของการวิจัยในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากนานาประเทศ