สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ดังนี้

View icon 331
วันที่ 19 ธ.ค. 2567 | 20.04 น.
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
วานนี้ เวลา 19.38 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด "หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น" อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ในกำกับของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 4 ของประเทศ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ สนับสนุนการให้บริการวิชาการดาราศาสตร์แก่ประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียง เพื่อสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์สู่สังคมไทย เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการทางดาราศาสตร์ประจำท้องถิ่น

ประกอบด้วย "อาคารนิทรรศการ" ให้บริการนิทรรศการทางดาราศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติร่วมจัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่จัดกิจกรรมและห้องทดลองวิทยาศาสตร์ และได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลเขื่อนอุบลรัตน์ สำหรับการจัดตั้งหอดูดาวฯ และร่วมพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์ เช่น การเคลื่อนที่ของทรงกลมดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น, ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ, การสูญพันธ์ของไดโนเสาร์และอุกกาบาต, นิทรรศการจากตัวแทนสถานศึกษา 660 แห่งทั่วประเทศ ที่ สดร. ได้สนับสนุนกล้องโทรทรรศน์เพื่อการศึกษา เช่น ชมรมดาราศาสตร์โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมชมทางช้างเผือกโดยกล้องโทรทรรศน์ ณ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เพื่อให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์แก่นักเรียนและประชาชน มุ่งหวังผลักดันให้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในอนาคต

"อาคารท้องฟ้าจำลอง" ให้บริการท้องฟ้าจำลองแบบฟูลโดม ดิจิทัล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร ความจุ 80 ที่นั่ง ฉายภาพยนตร์ดาราศาสตร์เสมือนจริง

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยัง "อาคารหอดูดาว" ทอดพระเนตรนิทรรศการ "ปฏิทินดิถีเพ็ญ ฉบับ สดร." คือปฏิทินระบบสุริยจันทรคติ กำหนดดิถีปฏิทิน (หรือวันขึ้นแรม) ด้วยเวลาจันทร์เพ็ญจริงจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ในวันสุริยปรากฏ เป็นดิถีปฏิทิน 15 เสมอ (หรือขึ้น 15 ค่ำ) เพื่อให้ปฏิทินมีเอกลักษณ์ เอกภาพ สามารถอ้างอิงวงรอบจันทร์เพ็ญจริง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หลักในแต่ละเดือนจันทรคติได้ โดยมิได้กำหนดให้มี 30 ดิถีตามระยะเชิงมุม 12 องศา ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ในแต่ละวงรอบ

โดยมีการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ภายในโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 ฟุต และติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีก 6 ตัว บริเวณระเบียงดูดาว ภายใต้หลังคาเลื่อนเปิด - ปิดได้ ในการนี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก "Seestar" Smart Telescope แล้วทอดพระเนตรและทรงบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น เปิดให้บริการวันอังคาร-อาทิตย์ และมีกิจกรรมดูดาว ทุกวันเสาร์ เวลา 18.00-20.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

เวลา 08.41 น. วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปยังอาคารศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีพุทธศักราช 2567 เป็นวันสุดท้าย มีผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร รวม 2,983 คน

โดยในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครบ 61 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ยังคงมุ่งสู่วิสัยทัศน์ "มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก" โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มพัฒนาวิจัยระดับแนวหน้าของโลก โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายของประเทศและองค์การสหประชาชาติ ส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับ Time Higher Education Impact Ranking เป็นอันดับ 1 ของประเทศ 2 ด้าน คือ ด้านการยุติความหิวโหย และด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ และเป็นอันดับ 97 ของโลก

นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นในการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว เป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและการพัฒนาการศึกษาด้วยนวัตกรรมของภูมิภาคและประชาคมอาเซียน ศูนย์กลางด้านการแพทย์และการแก้ปัญหาสุขภาพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมุ่งสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่และเมืองอัจฉริยะ สร้างนวัตกรรมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและความผาสุกของสังคม โดยสะท้อนค่านิยมด้านการอุทิศเพื่อสังคม

เวลา 12.47 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทอดพระเนตรโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น คิดพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อผลิตและให้บริการผลิตแบตเตอรี่ ชนิดลิเทียมไอออน และชนิดโซเดียมไอออน และเป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานที่สหกิจศึกษา ให้กับหลักสูตรวิทยาศาสตร์แบตเตอรี่และพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านแบตเตอรี่ ระดับปริญญาตรี แห่งแรกของประเทศไทย

โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่ ขนาด 25 กิโลวัตต์ชั่วโมง พร้อมระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาด 10 กิโลวัตต์สูงสุด จำนวน 1 ชุด, ระบบกักเก็บพลังงานที่ใช้แบตเตอรี่แบบเคลื่อนที่ได้ ขนาด 5 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวน 2 ชุด และแบตเตอรี่สำรองแบบพกพา ขนาด 2,600 มิลลิแอมป์ชั่วโมง จำนวน 130 ชิ้น เพื่อทรงใช้ตามพระราชอัธยาศัย

จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการ จากวัสดุสู่การผลิตเซลล์แบตเตอรี่, จากเซลล์แบตเตอรี่สู่การใช้งาน, และกระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ตั้งแต่การผลิตขั้วไฟฟ้า, การประกอบเซลล์แบตเตอรี่แบบกึ่งอัตโนมัติ, คัดเลือกและจัดกลุ่มเซลล์แบตเตอรี่, การผลิตแพ็คแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน และการทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่ตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบัน โรงงานฯ แห่งนี้ ผลิตแบตเตอรี่ 2 ชนิด คือ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ เป็นนวัตกรรมที่นำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งมีจุดเด่นด้านการเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพและความทนทานสูง และแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน ที่พัฒนาแบตเตอรี่โดยใช้โซเดียม ซึ่งเป็นธาตุที่หาได้ง่ายและราคาถูก แทนการใช้ลิเทียม ซึ่งมีต้นทุนสูงและหาได้ยากกว่า แบตเตอรี่ทั้ง 2 ชนิด มีจำหน่ายแล้วภายใต้ตราสินค้า "เคเคยูโวลต์"

ผลงานและความสำเร็จของโรงงานฯ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพิ่มศักยภาพของประเทศไทยในอุตสาหกรรมพลังงานยุคใหม่ต่อไป

เวลา 17.26 น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เสด็จออกแทนพระองค์ ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ และท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน กรรมการทุนสิริกิติ์บรมราชินีนาถ นำผู้ได้รับพระราชทานทุนสิริกิติ์บรมราชินีนาถ เฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานผลการศึกษา ดังนี้

- นายธีรภัทร ตันสุวรรณนนท์ ผู้ได้รับพระราชทานทุนสิริกิติ์บรมราชินีนาถ ประจำปี 2558 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ : ควอนตัม อินฟอร์เมชัน จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู แคนาดา

- นายบัญชา รัตนมธุวงศ์ ผู้ได้รับพระราชทานทุนสิริกิติ์บรมราชินีนาถ ประจำปี 2563 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ สหราชอาณาจักร

ข่าวอื่นในหมวด