แอลกอฮอล์เป็นพิษ อันตรายที่แฝงอยู่ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากสงสัยว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้น กำลังจะมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ ห้ามให้ผู้ป่วยหลับ ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย ปลุกผู้ป่วยให้ตื่น หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า และต้องรีบโทรแจ้ง 1669
ช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มักจะมีการเฉลิมฉลอง และเครื่องดื่มที่มีทุกเทศกาล คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ ในปริมาณที่พอเหมาะก็อาจจะทำให้แต่ละเทศกาลสนุกขึ้น แต่หากไม่ระวัง และมีการดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณมากเกินที่ร่างกายจะรับไหว อาจจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะ "แอลกอฮอล์เป็นพิษ" ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในปริมาณมาก จนมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และดื่มแบบรวดเร็ว ในช่วงเวลาสั้น ๆ จะทำให้ "ตับ" ไม่สามารถขับสารนี้ออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวน จนเกิดภาวะช็อก บางคนอาจอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เพราะการดูดซึมสารในร่างกายของแต่ละบุคคลนั้นแตกต่างกัน รวมไปถึงปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มแต่ละชนิด มีความเข้มข้นไม่เท่ากัน
ซึ่งการอาการที่ต้องสังเกตุ ว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์นั้น กำลังจะมีภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ คือ สับสน พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง น้ำตาลในเลือดต่ำ ไม่สามารถทรงตัวได้ ง่วงซึม นอนหลับเยอะกว่าปกติ อาเจียน หายใจผิดปกติ เกิดอาการชัก การเคลื่อนไหวของดวงตาเร็วกว่าปกติ ตัวเย็นจัด ผิวหนังซีด กลายเป็นสีม่วง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เกิดภาวะกึ่งโคม่า ร่างกายไม่สามารถตอบสนองได้ หัวใจวายเฉียบพลัน หยุดหายใจ
หากพบอาการเหล่านี้ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปลุกผู้ป่วยให้ตื่นและพยุงให้อยู่ในท่านั่ง หากยังดื่มน้ำได้ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่า หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงหรืออยู่ในท่าพักฟื้น คอยดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่
หากพบว่าหยุดหายใจให้ทำการช่วยหายใจ หรือหากพบหัวใจหยุดเต้นให้เริ่มการกู้ชีพ CPR ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่น คอยสังเกตอาการจนกว่ารถพยาบาลจะมา อย่าให้ผู้ป่วยหลับ ห้ามอาบน้ำให้ผู้ป่วย และสิ่งที่สำคัญที่สุด ก่อนเริ่มปฐมพยาบาล ต้องรีบโทรแจ้งหน่วยกู้ชีพ 1669 หรือโทรแจ้งตำรวจ 191 เพื่อขอความช่วยเหลือ
ข้อมูลจาก ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล