คุมกำเนิดช้าง ลดจำนวนเพื่ออนุรักษ์ เล็งดีเดย์หลังปีใหม่ 2568 ฉีดวัคซีนควบคุมการตั้งท้องในช้าง เริ่มในพื้นที่กลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก คนกับช้างขัดแย้งรุนแรง
จากภาพรวมประชากรช้างป่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 8 % และมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ตัว จากการสำรวจล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา มีประชากรช้าง 4,400 ตัว กระจายใน 16 กลุ่มป่า 94 พื้นที่อนุรักษ์ โดยกลุ่มป่าตะวันออกเป็นพื้นที่ ๆ ช้างออกมาจากแนวป่ามากที่สุด และเพิ่มจำนวนอยู่ที่ 600 ตัว รองลงมาเป็นกลุ่มป่าแก่งกระจาน ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าตะวันตก โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี กาญจนบุรี ปราจีนบุรี และตราด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ข้อมูลว่า หนึ่งในมาตรการเร่งด่วน คือ “คุมกำเนิดช้างป่า” ลดการเพิ่มประชากร ควบคุมการตั้งท้อง โดยจะเริ่มครั้งแรกที่กลุ่มป่าตะวันออก ดีเดย์หลังปีใหม่ 2568 นี้
“แม้ว่าการคุมกำเนิดช้างป่า ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ได้มีการวิจัยเรียบร้อยแล้ว จะใช้วัคซีน SPYVAX เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของประชากรช้างป่า หรือเป็นการควบคุมการตั้งท้องในช้าง มีการใช้วิธีนี้ในหลายประเทศที่มีช้าง ซึ่งผลการทดลองในช้างเลี้ยง ผลออกมาดี ไม่มีผลกระทบต่อช้างแต่อย่างใด โดยจะนำไปใช้ในกลุ่มช้างเพศเมีย ในกลุ่มป่าตะวันออก 5 จังหวัด แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะฉีดวัคซีนกับช้าง จะมีการประชุมคณะกรรมการวิชาการอีกครั้ง เพื่อชี้แจงในรายละเอียด รวมถึงตอบคำถามถึงสาเหตุที่ต้องทำหมันช้างเพื่ออนุรักษ์ช้าง ในบางพื้นที่จำนวนประชากรช้างเพิ่มขึ้นจนเกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน”
ที่ผ่านมาชุดลาดตระเวนผลักดันช้างทำงานอย่างหนัก เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่หลายพื้นที่ขัดแย้งรุนแรง ในรอบ 10 กว่าปีที่ มีผู้เสียชีวิต 239 คน บาดเจ็บ 206 คน หรือกรณีช้างป่าตาย จากสาเหตุความเคียดแค้น