สนามข่าว 7 สี - "คน-ช้างป่า" อยู่ร่วมกันได้ จริงหรือ ? วันนี้มาหาคำตอบกัน หลังจากนี้จะมีมาตรการและการเยียวยาที่เข้มข้นขึ้นอย่างไรบ้าง
การอยู่ร่วมกันระหว่างช้างกับคน บางทีก็เป็นคำพูดที่สวยหรูเกินไป แต่ในบางกรณีชาวบ้านนั้นได้รับผลกระทบหนักจริง ๆ ช้างป่าสร้างความเสียหาย พืชผลทางการเกษตรเก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือรุนแรงถึงขั้นถูกทำร้าย
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มองทำไมต้องไปทำร้ายช้าง หรือว่าเราเข้าไปบุกรุกที่อยู่อาศัยช้าง และมีไม่น้อยที่ช้างถูกกระทำตอบโต้ เช่น ถูกรัวยิง ถูกแร้วดักสัตว์รัดขาจนเน่า
ตรวจสอบข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่า ปัจจุบันช้างออกมานอกป่ามากขึ้น และไกลขึ้น จาก 20 กิโลเมตร 30 กิโลเมตร หรือไกลออกมา 50 กิโลเมตร ก็มี ปัจจัยหลัก ๆ คือการออกมาหาอาหาร ติดใจรสชาติของพืชผลทางการเกษตร อ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ทุเรียน ซึ่งการที่ช้างออกมาบ่อย ๆ ก็เกิดความเคยชิน และด้วยความฉลาดก็จะจำฝังไว้ว่า ถึงฤดูกาลต้องออกมาตามวงรอบ
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านช้าง ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันช้างป่ารวมโขลงกันใหญ่ขึ้น 30-40 ตัว เรียนรู้หากินในพื้นที่เกษตรกรรม สอนลูก ๆ ให้ปรับตัวหากินนอกป่า
เรารวบรวมข้อมูลย้อนหลัง สถิติ 3 ปี ย้อนหลัง (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง ส่วนปีนี้ 2567 มากถึง 11,468 ครั้ง และที่น่าวิตก คือในช่วง 12 ปี (2555-ปัจจุบัน) มีผู้เสียชีวิตมากถึง 239 คน บาดเจ็บ 206 คน ในจำนวนนี้รวมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครด้วย
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เร่งรัดของบกลาง เพื่อสนับสนุนชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างให้เพิ่มขึ้นเป็น 200 ชุด จากตอนนี้ที่มีแค่ 86 ชุด ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครอบคลุม รวมถึงการของบกลาง เพิ่มเงินเยียวยาพืชผลให้ได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาท ตามบัญชีพืชผลแต่ละชนิด
สำหรับการดูแลช้าง จะเพิ่มการปรับพื้นที่แหล่งน้ำ แหล่งอาหารให้เพียงพอ บางพื้นที่เพิ่มคูกันช้างป้องกันออกจากป่า การนำช้างเกเรมาเข้าคอกปรับพฤติกรรม รวมถึงการคุมกำเนิดช้าง ก็หวังว่ามาตรการที่จะทำเหล่านี้ จะช่วงลดปัญหาลงได้
การพูดคุยเจรจา ทำความเข้าใจร่วมกัน เชื่อว่างยังเป็นทางออกที่ช่วยให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลงได้