ช้างป่ารวมโขลงใหญ่ขึ้น ปรับตัวออกนอกป่ามากินพืชผลเกษตร จำฝังออกมากินเป็นวงรอบ ถ่ายทอดถึงลูกช้างในโขลง ผู้เชี่ยวชาญฯเผยการแก้ปัญหาคนกับช้าง ผลสำเร็จคือทั้งคนและช้าง เจ็บ-ตายน้อยลง ช้างออกจากป่าน้อยลง พืชผลเกษตรถูกทำลายน้อยลง
ปัญหาคนกับช้างป่า คนทำร้ายช้าง ช้างป่าสร้างความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตร ลุกลามถึงขั้นทำร้ายคนบาดเจ็บและเสียชีวิต ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยอมรับว่า ปัจจุบันช้างออกมานอกเขตป่ามากขึ้นและไกลมากขึ้น จาก 20 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตร หรือไกลออกมา 50 กิโลเมตร ก็เคยมี ปัจจัยหลัก ๆ คือการออกมาหาอาหาร ติดใจรสชาติของพืชผลเกษตร อ้อย มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ทุเรียน
ดร.อลงกต ชูแก้ว ผอ.มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านช้าง เปิดเผย การที่ช้างป่าออกจากป่ามาบ่อย ๆ ทำให้เกิดความเคยชิน และด้วยความฉลาดของช้างป่า ช้างก็จะจำฝังไว้ว่า ถึงฤดูกาลพืชผลเกษตรจึงต้องออกมาตามวงรอบ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ปัจจุบันช้างป่ารวมโขลงกันใหญ่ขึ้น 30 ตัว 40 ตัว ก็มี กลุ่มช้างป่าเรียนรู้หากินในพื้นที่เกษตรกรรม และสอนลูกช้างในโขลงให้ปรับตัว ออกมาเดินหากินนอกเขตป่า
“ปัจจุบันพบว่าช้างรวมตัวมากผิดสังเกต เป็นการรวมโขลงขนาดใหญ่ โดยไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนในป่า ทำให้มีโอกาสผสมพันธุ์กันมากขึ้น รวมถึงการผสมพันธุ์กันเองในโขลงสูงขึ้น การระวังป้องกันภัยให้กับโขลงสูงขึ้น ช้างเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ามาหากินพืชเกษตร ลูกช้างในโขลงรู้จักพืชในแปลงเกษตรมากกว่าพืชในป่า มาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม แล้งกลับเข้าไปพักหรือซ่อนตัวในป่า” ดร.อลงกต ระบุ
ดร. อลงกต เปิดด้วยเผยว่า โครงการแก้ปัญหาคนกับช้างป่า จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องมีการวัดผล เช่น 1.ทำให้ช้างตายน้อยลงและบาดเจ็บน้อยลง 2.ผลกระทบที่มีต่อพืชผลเกษตรลดลง 3.การบาดเจ็บและเสียชีวิตของเกษตรกรจะลดลง 4.ช้างออกจากป่ามาเผชิญหน้ากับคนลดน้อยลง โดยหวังว่ามาตรการที่จะทำเหล่านี้ จะช่วยลดปัญหาคนกับช้างป่าลงได้ และเชื่อว่าการพูดคุย เจรจา ทำความเข้าใจร่วมกันในชุมชนท้องถิ่น ยังเป็นทางออกที่ช่วยให้สถานการณ์ลดความรุนแรงลงได้
อย่างไรก็ตาม จากสถิติ 3 ปี ย้อนหลัง (2564-2566) พบช้างป่าออกนอกพื้นที่มากกว่า 37,000 ครั้ง สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน และพืชผลเกษตรกรรวมกว่า 3,800 ครั้ง ส่วนปี 2567 มากถึง 11,468 ครั้ง และที่น่าวิตก คือในช่วง 12 ปี (2555-ปัจจุบัน) มีผู้เสียชีวิตมากถึง 239 คน บาดเจ็บ 206 คน ในจำนวนนี้รวมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครด้วย
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา ล่าสุดนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดของบกลาง เพื่อสนับสนุนชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างให้เพิ่มขึ้นเป็น 200 ชุด จากตอนนี้ที่มีแค่ 86 ชุด ซึ่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครอบคลุม รวมถึงการของบกลาง เพิ่มเงินเยียวยาพืชผลให้ได้มากกว่าไร่ละ 1,000 บาท ตามบัญชีพืชผลแต่ละชนิด หากได้รับการอนุมัติ อัตราชดเชยพืชผลกเกษตรจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง
นอกจากนี้ ในด้านการดูแลช้างป่าไม่ให้ออกนอกพื้นที่ป่า จะเพิ่มการปรับพื้นที่แหล่งน้ำ เพิ่มแหล่งอาหารให้เพียงพอ บางพื้นที่จะเพิ่มคูกันช้าง ป้องกันออกจากป่า การนำช้างเกเรมาเข้าคอกปรับพฤติกรรม รวมถึงการคุมกำเนิดช้างป่า