ข่าวดี! พบจระเข้น้ำจืดใกล้สูญพันธุ์ในอุทยานฯ

ข่าวดี! พบจระเข้น้ำจืดใกล้สูญพันธุ์ในอุทยานฯ

View icon 4.3K
วันที่ 6 ม.ค. 2568 | 09.06 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ข่าวดี! พบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยในอุทยานแห่งชาติปางสีดา สร้างความหวังให้การอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์

(6 ม.ค. 68) นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เปิดเผยว่า อุทยานแห่งชาติปางสีดาได้ดำเนินการติดตั้งกล้องดักถ่ายเพื่อติดตามประชากรจระเข้น้ำจืดในพื้นที่ และประสบความสำเร็จในการบันทึกภาพจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Crocodylus siamensis) จำนวน 2 ตัว บริเวณวังยาว  โดยสามารถบันทึกภาพได้ 3 ครั้ง

การพบเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 เวลา 9.27 น. พบจระเข้ 1 ตัว กำลังนอนอาบแดด ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2567 เวลา 10.27 น. พบจระเข้ 2 ตัว โดยตัวแรกนอนอาบแดดบนเนินดิน ส่วนตัวที่สองลอยอยู่ในน้ำ เมื่อทั้งสองตัวพบกัน จระเข้บนเนินพยายามหนี ขณะที่ตัวในน้ำพยายามไล่ตาม คาดว่าเป็นพฤติกรรมการไล่ล่าเพื่อผสมพันธุ์ และครั้งล่าสุดวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เวลา 12.03 น. พบจระเข้ 1 ตัวลอยตัวในน้ำ มีฝูงนากอาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ จระเข้ทั้งหมดมีความยาวประมาณ 2-3 เมตร พื้นที่ที่พบเป็นเส้นลำน้ำที่มีเกาะตรงกลางเมื่อน้ำลด พบร่องรอยของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ทั้งเหี้ย นาก และช้าง รวมทั้งมีปลาพวงชุกชุม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของจระเข้ โดยรอบพื้นที่เป็นทางน้ำล้อมรอบด้วยป่า

จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทยเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม กาลีมันตัน ชวา และสุมาตรา จัดเป็นจระเข้ขนาดปานกลางค่อนข้างใหญ่ (3-4 เมตร) มีเกล็ดท้ายทอย เริ่มวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 10-12 ปี วางไข่ครั้งละ 20-48 ฟอง ใช้เวลาฟัก 68-85 วัน โดยจะวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม ขุดหลุมในหาดทรายริมแม่น้ำ

ปัจจุบันพบจระเข้น้ำจืดในพื้นที่อนุรักษ์ของไทย 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติปางสีดา ทุ่งแสลงหลวง แก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ยอดโดม และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด

แม้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจระเข้ที่พบเป็นประชากรดั้งเดิมหรือถูกปล่อย แต่การพบจระเข้น้ำจืดแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติในพื้นที่ถือเป็นความสำเร็จในการอนุรักษ์ โดยปกติจระเข้น้ำจืดชอบอยู่และหากินเดี่ยว กินปลาและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร จะไม่ทำร้ายมนุษย์หากไม่ถูกรบกวนหรือมีอาหารเพียงพอ การค้นพบครั้งนี้จึงสร้างความหวังให้กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรจระเข้น้ำจืดในธรรมชาติของประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง