11-14 ม.ค.นี้ หนาวกว่ารอบแรก ถือเป็นหนาวที่สุดของปี

11-14 ม.ค.นี้ หนาวกว่ารอบแรก ถือเป็นหนาวที่สุดของปี

View icon 379
วันที่ 7 ม.ค. 2568 | 10.28 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รอรับลมหนาวอีกระลอก 11-14 ม.ค.นี้ หนาวกว่ารอบแรก ถือเป็นหนาวที่สุดของปี ดร.เสรี เผยแม่ฮ่องสอน-ตาก จะหนาวสุด ๆ กทม.-ปริมณฑล 16 องศา

อากาศหนาว วันนี้ (7 ม.ค.68) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงลมหนาวรอบสอง โดยระบุว่า จะหนาวกว่ารอบแรก ระหว่างวันที่ 11-14 ม.ค.68 เป็นหนาวที่สุดของปีนี้ ทั้งลมแรง และหนาวแรงจะมาเป็นรอบที่ 2  โดยวันที่ 13 ม.ค.68 จะเป็นหนาวที่สุด และหนาวสุดท้ายของปีนี้ อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียสในหลายพื้นที่ (เฉดสีฟ้า และน้ำเงิน) โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดในพื้นราบต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส พื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก จะหนาวสุด ๆ ภาคกลาง กทม. และปริมณฑล อุณหภูมิต่ำสุดในพื้นราบต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส 

รศ.ดร.เสรี ระบุด้วยว่า ความหนาวเย็นเกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี ปรากฏการณ์ La Nina มีระดับรุนแรงสุดเดือนมกราคม 2568 มีส่วนสำคัญ ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนจากความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่แผ่ลงมาเป็นช่วง ๆ ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นช่วง ๆ เช่นกัน หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมนี้

เนื่องจากช่วงวันดังกล่าว ความหนาวเย็นจะมาพร้อมลมในระดับรุนแรงมากกว่า 70% เกษตรกรที่ปลูกไม้ผล ควรเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบด้วย ส่วนภาพรวมปริมาณฝนในปี 2568 คาดการณ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ฝนจะมาเร็วในช่วงต้นฝน (พฤษภาคม) และมีแนวโน้มจะทิ้งช่วงกลางฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) สภาพอากาศจะร้อนผิดปกติ และจะมีบางพื้นที่ที่ฝนจะน้อย (ภาคเหนือ และภาคอีสานบน) สำหรับปลายฝน (กันยายน-พฤศจิกายน) ภาคใต้จะมีฝนมากกว่าปกติ พายุจรต้องจับตาเส้นทางที่จะทำให้เกิดฝนตกหนัก และเกิดน้ำไหลหลากซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ระยะยาวได้  

677ca03794b8d1.63716393.jpg

สถานการณ์จากนี้ต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า สภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จากผลพวงของการใช้พลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นต่อเนื่อง การคาดการณ์โดย IPCC (Intergovermental Panel on Climate Change) พบว่าโลกจะเจอกับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถาวร 1.5 องศาฯ ก่อนปี 2576 ประกอบกับการคาดการณ์โดย AI มีแนวโน้มสภาพอากาศแปรปรวนสูง การประเมินความเสี่ยงในรายละเอียดเฉพาะพื้นที่จากสภาพอากาศรุนแรงในประเทศไทยจึงมีความจำเป็น เพราะการตัดสินใจที่ผิดพลาดย่อมนำมาซึ่งความเสียหายทางธุรกิจ และชุมชนได้