เวลา 12.29 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงบรรยายพิเศษ เรื่อง การเกิดโรคมะเร็ง พระราชทานแก่นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน คณาจารย์ และนักวิชาการ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐาน และความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชา "พัฒนาการพันธุศาสตร์ และโรคมะเร็ง"
โรคมะเร็ง เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้า วิจัย พัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัย และการรักษาโรค เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต ตั้งแต่ "กระบวนการและขั้นตอนของการเกิดมะเร็งและชีววิทยาของเซลล์มะเร็ง" มีหลายขั้นตอน มีความซับซ้อนในตัวเอง เช่น การเกิดมะเร็งจากสารเคมี "ขั้นเริ่มต้น" เชื่อว่าแยกเป็น 2 รูปแบบ คือ กลไกที่ทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ จนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง จากสารอะฟลาท๊อกซิน ในเมล็ดธัญพืช และสารไนโตรซามีน ในอาหาร เช่น ปลาร้า กะปิ, และกลไกที่ไม่ได้ทำลายดีเอ็นเอโดยตรง จะทำปฏิกิริยาในระบบการควบคุมการแสดงออกของยีนส์ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นเซลล์มะเร็ง, เมื่อเข้าสู่ "ขั้นก่อตัว" เซลล์จะถูกกระตุ้นให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น, เข้าสู่ "ขั้นกระจายตัว" ทั้งนี้ เซลล์มะเร็งมีลักษณะทางชีววิทยาที่สำคัญ คือการแบ่งตัวอย่างไม่หยุดยั้ง และการเปลี่ยนแปลงในโปรตีน ระยะแรกจะอยู่รวมกันในบริเวณที่เกิดความผิดปกติ หากตรวจพบในระยะนี้ จะมีโอกาสยับยั้งและรักษาให้หายได้
องค์ความรู้ขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่กระบวนการและขั้นตอนการเกิดโรค การรักษาแบบมุ่งเป้า และการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ