มท. จัดกิจกรรม "มอบธง” ทั่วประเทศ ยืนยันความพร้อมการเป็นนายทะเบียน สำหรับการจดทะเบียนสมรสที่มีความเท่าเทียม 23 ม.ค. 68
วันนี้ (8 ม.ค.68) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ม.ค. 68 นอกจากการเตรียมความพร้อมในด้านระเบียบ ระบบ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้วกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองจะได้ ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ความพร้อม และการเริ่มต้นมีผลบังคับของกฎหมายสำคัญฉบับนี้ ให้เป็นที่รับรู้ทั้งในประเทศไทย ต่างประเทศ และทั่วโลกด้วย
โดยในวันที่ 13 ม.ค. 68 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองจะจัดกิจกรรม "มอบธงแห่งความรักทั่วไทย" ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการแสดงความพร้อมเชิงสัญลักษณ์ในการเป็นนายทะเบียนสำหรับการจดทะเบียนสมรสที่มีความเท่าเทียมและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัคราชทูต ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน ประมาณ 400 คน
ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย จะแสดงความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย ในการสนับสนุนการจดทะเบียนสมรสที่มีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ แสดงความพร้อมของกรมการปกครองในการเป็นนายทะเบียนให้กับทุกความรัก ขณะที่ผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย หรือ UN Thailand และผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศจะใช้โอกาสนี้แสดงความยินดีในความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านความเท่าเทียมทางเพศ
นอกจากนี้ จะมีอีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ของงานคือ การมอบธงสัญลักษณ์ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 76 แห่ง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงมี "Symposium Session" ซึ่งเป็นการแสดงเสียงสะท้อนจากหลากมุมมองเกี่ยวกับความเท่าเทียม
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากนั้นในวันที่ 23 ม.ค. 68 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายเริ่มมีผลบังคับ กรมการปกครอง จะจัดกิจกรรม "ตีฆ้องชัย ให้ทุกความรัก 878 อำเภอทั่วไทย" ที่อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะมีผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าขอจดทะเบียนสมรสจำนวนมาก ซึ่งงานวันดังกล่าวถือเป็นการเริ่มเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางความรัก ภายในงานจะมีการแสดงและขบวนขันหมากและพิธีจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักจำนวน 10 คู่ โดยมีผู้บริหารกรมการปกครองเป็นสักขีพยาน
นอกจากนี้ มีการเสวนาคลินิกกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการจัดนิทรรศการ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อสื่อสารถึงความสำคัญของความเท่าเทียมในสังคมไทย