เช้านี้ที่หมอชิต - ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นับวันยิ่งหนักหน่วง แม้จะมีมาตรการป้องกันออกมามารายพื้นที่ และระดับประเทศ แต่หลาย ๆ จังหวัด ประชาชนก็ยังต้องอยู่กันอย่างระส่ำ หายใจแถมฝุ่นพิษสะสมในปอดกันรายวันจนเจ็บป่วย เหมือนกรณี คุณพ่อของ "ดอกเตอร์เอ้ สุชัชวีร์" ที่ปกติก็เดินออกกำลังในตอนเช้าทุกวัน แต่จู่ ๆ ก็ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน เพราะสูดควันพิษสะสมทุกวัน
ฝุ่นพิษ เปลี่ยนชีวิตพ่อของ อ.เอ้ สุชัชวีร์
ถ้าเป็นเราก็อาจจะไปต่อไม่เป็นเหมือนกัน เพราะสมาชิกในครอบครัวจากร่างกายแข็งแรงดี แต่กลับต้องรับรู้ว่า อาจต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ แล้ว ซึ่ง ดอกเตอร์เอ้ ก็บอกว่า เดิมก็พยายามเลือกที่อยู่อาศัยชานเมืองกรุงเทพฯ ในย่านลาดกระบังแล้ว
เพราะคิดว่าอยู่ชานเมืองอากาศจะปลอดภัย แต่ที่ไหนได้เหมือนอยู่ในดงรถบรรทุก ที่ปล่อยควันดำ สาเหตุหลักฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่มาจากเรื่องนี้และก็ระดมแก้ปัญหา และถอดบทเรียนกันมานับครั้งไม่ได้ แต่สุดท้ายทุกฤดูหนาวฝุ่น PM2.5 ก็ยังเหมือนเดิม
ไฟป่ายังโหม เร่งระดมกำลังดับไฟป่าดงพญาเย็น
เหตุการณ์ไฟป่า ในตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ที่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ 8 มกราคม แต่จนถึงวานนี้ ถ้าดูตามภาพถ่ายมุมสูงจากกล้องจับความร้อน ก็จะเห็นกลุ่มความร้อนอยู่ในพื้นที่เกิดไฟป่า ที่ยังคงลุกลามหลายจุดจนเกิดกลุ่มควันลอยขึ้น จากผืนป่ากระจายฟุ้งไปทั่วหลายแห่ง
เจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า ยังคงระดมกำลังเร่งควบคุมไฟป่าแข่งกับเวลา พร้อมทำแนวกันไฟ ฉีดน้ำเลี้ยง ป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามติดบ้านของประชาชนจนพังเสียหาย ซึ่งจากทั้ง 2 ปัจจัยยังไม่นับรวมปัจจัยอื่น ๆ ในการก่อฝุ่น ก็ทำให้หลายภาคส่วนทั้งระดับประเทศและจังหวัดต่างก็งัดกลยุทธ์สู้ฝุ่น
ทำฝนหลวง กู้วิกฤตฝุ่น PM2.5
1 ในนี้ก็คือการทำฝนหลวง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่ต้องปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้กับประชาชน โดยใช้วิธีทำฝนหลวง มี 2 เทคนิค คือ 1. การก่อเมฆ และเลี้ยงเมฆให้อ้วนเพื่อดูดซับ และระบายฝุ่น
ส่วนอีกเทคนิค คือการลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำ และโปรยน้ำแข็งแห้ง เพื่อเจาะช่องบรรยากาศ ให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศได้ ตอนนี้เริ่มปฎิบัติการด้วยเทคนิคโปรยน้ำแข็งแห้งแล้ว ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ย่านถนนพระรามที่ 2 เนื่องจากฝุ่นจะพัดมาตกบริเวณนี้เป็นมวลก้อนใหญ่กว่าจุดอื่น ๆ ของ กทม.
เรียกว่า เป็นความพยายามต่อสู้แก้ปัญหาฝุ่น ที่มีหลายมาตรการออกมา แต่ก็ยังไม่พ้นวิกฤต โดยเฉพาะ กทม. ต้องยอมรับว่า ยังมีรถควันดำหลุดเข้ามา รวมถึงการใช้ยานพาหนะส่วนตัวที่ยังไม่ลดลง เพราะประชากรหนาแน่น
ระบบขนส่งสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน ก็ยังเป็นปัญหาจนรถติดสะสมจนเกิดฝุ่นควันเพิ่มขึ้น ยิ่งในช่วงอากาศปิดแบบในตอนนี้ที่เป็นฤดูหนาวก็ยิ่งเป็นวิกฤตคนกรุง
โดยเฉพาะช่วงนี้ ฝุ่นพิษมีแนวโน้มเกินมาตรฐานไปจนถึง 15 มกราคม ทั้งใน กทม. และปริมณฑล, ภาคกลาง, ภาคเหนือ เพราะสภาพอากาศปิด และมีจุดความร้อนสูงขึ้นทั้งในประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน
สธ.คาดวิกฤตฝุ่น PM2.5 กระทบ 38 ล้านคน
ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็คาดว่าประชาชนคนไทย 38 ล้านคน เสี่ยงได้รับผลกระทบ ในจำนวนนี้น่าห่วงกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็กรวม 15 ล้านคน
ที่ต้องเฝ้าระวังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ เช่น โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคผื่นลมพิษ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
กลุ่มเสี่ยงป่วยแล้วกว่า 1,048,015 คน ซึ่งนายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า มลพิษทางอากาศ เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
และในเมื่อช่วงนี้ยังต้องเจอฝุ่นอยู่ เวลาออกไปไหน ก็สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ถ้าให้ดีก็ชนิด N95 ยิ่งวันไหนมีฝุ่นหนา ๆ กลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก คนแก่ หญิงท้อง และผู้มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งไปก่อน