เราอยู่กับฝุ่น PM2.5 มานานเป็น 100 ปี หมอมนูญยกกราฟโชว์ อย่าวิตกกังวลมากเกินไป คนไทยหายใจฝุ่น PM2.5 มาตลอด แต่อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประโยชน์จาก WFH พ่นละอองน้ำจากที่สูง ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ฝุ่น PM 2.5 วันนี้ (20 ม.ค.68) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและผู้ป่วยหนัก ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น หลังเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 โดยหมอมนูญ ระบุว่า ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีมานานแล้ว ย้อนหลังไป พ.ศ.2554 ตั้งแต่เริ่มมีการวัดค่าฝุ่น PM2.5 จะเห็นค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานเดือนเมษายนถึงพฤศจิกายน และสูงกว่าค่ามาตรฐานเดือนธันวาคมถึงมีนาคมทุกปี
หมอมนูญ ยังได้นำกราฟมาแสดงให้เห็นค่าฝุ่น PM2.5 แต่ละปี ที่ไม่ได้แย่ลง
สำหรับคำถามที่ว่า ทำไมค่าฝุ่น PM2.5 ถึงได้ขึ้นสูงกว่ามาตรฐานเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ทั้ง ๆ ที่รถยนต์ก็วิ่งใน กทม.ตลอดทั้งปี ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงช่วง 4 เดือนนี้ มีอุณหภูมิผกผัน ทำให้ฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถลอยไปที่อื่นได้
ย้อนหลังไป 4 ปี ช่วงเดือนมกราคม 2564 ถ้ายังจำกันได้ มีปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากมีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 มีคำแนะนำให้คนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน งดเดินทาง ทำให้ถนนโล่ง จำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนใน กทม.ช่วงมกราคม 2564 ลดลงมากถึงร้อยละ 70 แต่ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.กลับไม่ลดลง แสดงว่าสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด สำคัญกว่าจำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนนในการทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงกว่ามาตรฐาน และอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์
หมอมนูญ ระบุด้วยว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ใน กทม.ขณะนี้อยู่ในระดับสีส้มต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่า กทม.จะประกาศห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าเขต กทม. สั่งปิดโรงเรียนใน กทม. และประกาศให้ทำงานที่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง ลดการปล่อยฝุ่น PM2.5
“เราควรเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นใน กทม.ช่วงเดือนมกราคม 4 ปี ที่แล้ว ถึงรถวิ่งบนถนนลดลงร้อยละ 70 ค่าฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ลดลง ประโยชน์ที่ได้รับจากการห้ามรถวิ่ง ปิดโรงเรียน ให้ทำงานที่บ้าน รวมทั้งการติดตั้งหอฟอกอากาศ และการพ่นละอองน้ำจากที่สูง ไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐกิจ เราต้องยอมรับเราอยู่กับฝุ่น PM2.5 มานานเป็น 100 ปีแล้ว อย่าวิตกกังวลมากเกินไป ค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูงก็ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น อินเดีย “
หมอมนูญ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ถ้าดูย้อนหลังไป 70 ปี ถึงแม้คนไทยจะหายใจฝุ่น PM2.5 มาตลอด อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอายุเฉลี่ยแต่ก่อน 50 ปี ปัจจุบันผู้ชายเพิ่มเป็น 73 ปี ผู้หญิงเพิ่มเป็น 80 ปี เชื่อว่า อีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่า อายุเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้นอีก ผู้ชาย 76 ปี ผู้หญิง 83 ปี