ตำรับยาอดยาบ้า โปรแกรมบำบัดได้ผลดีมาแล้ว 2,800 คน

ตำรับยาอดยาบ้า โปรแกรมบำบัดได้ผลดีมาแล้ว 2,800 คน

View icon 48
วันที่ 22 ม.ค. 2568 | 14.37 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ตำรับยาอดยาบ้า กรมการแพทย์แผนไทยฯ - กรมคุมประพฤติ พัฒนาโปรแกรมบำบัดผู้ติดยาเสพติด ใช้สมุนไพรรักษาตามอาการ ได้ผลดีมาแล้ว 2,800 คน

วันนี้ (22 ม.ค.68) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับกรมคุมประพฤติ พัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ติดยาเสพติด เน้นการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ด้วยนวัตกรรมยาอดยาบ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ติดสารเสพติด ในระบบบริการสาธารณสุข ร่วมกับ การใช้สมุนไพรรักษาตามอาการ ควบคู่กับ การฝึกสมาธิบำบัด SKT และการกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า ที่ผ่านมารักษามาแล้วกว่า 2,800 ราย ส่วนใหญ่ตอบสนองในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า โปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ติดยาเสพติด ให้เข้ารับการพัฒนาพฤติกรรมของผู้กระทำผิดคดียาเสพติด ที่ผ่านมา มีการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่ ปี 2565 และในปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเข้าร่วมบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เป็นกลุ่มสีเขียว จำนวน 2,832 คน ซึ่งมีผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาต่อเนื่อง 895 คน ผู้ป่วยที่สิ้นสุดโปรแกรมการบำบัดรักษา 540 ราย และผู้ที่ได้รับคำแนะนำด้านการใช้ยาสมุนไพร 1,397 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการบำบัดรักษา มีประสิทธิผลตอบสนองในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ         
 
สำหรับ แนวทางในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยใช้ตำรับยาสมุนไพรที่ช่วยในการลดอาการอยากยา และถอนพิษยาเสพติด ได้แก่ นวัตกรรมตำรับยาอดยาบ้า (ตำรับยาพัฒนา) หรือตำรับยาทำให้อดฝิ่น (ตำรับยาเดิม) ร่วมกับการใช้สมุนไพรรักษาตามอาการ ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีกลุ่มยาสมุนไพรล้างพิษ เช่น ยารางจืด ยาย่านางแดง กลุ่มยาสมุนไพรปรับธาตุ เช่น ยาตรีผลา กลุ่มยาสมุนไพรบำรุง เช่น ยาขมิ้นชัน ยาหอมนวโกฐ ยาแก้ลมแก้เส้น (ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย) ยาศุขไสยาศน์ (ช่วยให้นอนหลับ) ตำรับยาการุณย์โอสถ เป็นต้น              

พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ มีภารกิจ ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขเพื่อการคุมประพฤติมาใช้แทนการลงโทษจำคุก เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้รับการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะในคดียาเสพติด  ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง