แนวโน้มผลผลิต “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 45 %

แนวโน้มผลผลิต “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว 45 %

View icon 69
วันที่ 23 ม.ค. 2568 | 14.04 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พยากรณ์!  ปี 68 แนวโน้มผลผลิต “ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง” เพิ่มขึ้นจากปี 67 ถึงร้อยละ 45.50  แนะเกษตรกร ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมรับมือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (23 ม.ค.68) นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการจัดทำข้อมูลการผลิตและประมาณการผลผลิตไม้ผลภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 ปี 256 (ข้อมูล ณ 14 มกราคม 2568) โดย สศท.6 และ สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ติดตามสถานการณ์การออกดอกติดผลของไม้ผลภาคตะวันออก 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด

โดยคาดการณ์ปี 2568 มีปริมาณผลผลิตรวม 1,453,862 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีจำนวน 999,211 ตัน (เพิ่มขึ้น 454,651 ตัน หรือร้อยละ 45.50) ผลผลิตไม้ผล ทั้ง 4 ชนิด ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลจากสภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล ในขณะที่ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณผลผลิตน้อย จึงทำให้ได้พักต้นสะสมอาหาร สภาพต้นสมบูรณ์พร้อมออกดอกติดผลได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2568 ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568

สำหรับผลผลิตรวมของทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง เพิ่มขึ้น โดย

ทุเรียน มีจำนวน 1,045,410 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.89 เนื่องจากปีที่ผ่านมาสภาพอากาศแปรปรวนและในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ทำให้การสร้างผลไม่สมบูรณ์ จึงได้พักต้นสะสมอาหาร ปีนี้ต้นสมบูรณ์พร้อมออกดอกติดผลมากขึ้น อีกทั้งทุเรียนที่ปลูกในระยะ 4 - 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มให้ผลผลิตเป็นปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 72,908 ไร่ และทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนจูงใจต่อการลงทุน เกษตรกรจึงดูแลรักษา เอาใจใส่อย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

มังคุด มีจำนวน 231,261 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.55

เงาะ มีจำนวน 169,609 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67

ลองกอง มีจำนวน 7,582 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.91

จากสภาพอากาศหนาวเย็น เอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล สภาพต้นสมบูรณ์และอายุต้นอยู่ในช่วงที่ให้ผลผลิตสูง ขณะนี้ทุเรียน ออกดอกแล้วร้อยละ 92 ทุเรียนรุ่นแรก ส่วนใหญ่อยู่ในระยะดอกบาน ระยะหางแย้ เริ่มทยอยติดผลเล็กเพิ่มขึ้น รุ่นถัดมาการออกดอกส่วนใหญ่อยู่ในระยะมะเขือพวง ระยะกระดุม นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทุเรียนยังทยอยออกดอกในระยะไข่ปลา/ตาปู และระยะเหยียดตีนหนู ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีหลายรุ่นและดูแลรักษาเพื่อบริหารจัดการผลผลิตของเกษตรกรอาจทำได้ยากขึ้น โดยทุเรียนที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อน คือทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่บังคับสารออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุม พันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึง เดือนสิงหาคม 2568 ผลผลิตทุเรียนออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568 มังคุด ออกดอกแล้วร้อยละ 32 โดยปีนี้มังคุดออกดอกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20 - 30 วัน ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระยะปากนกแก้ว และระยะดอกกลม และในหลายพื้นที่ดอกเริ่มบาน เข้าสู่ระยะติดผลอ่อน ซึ่งในปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกของมังคุด คาดว่ามังคุดในส่วนที่ยังไม่ออกดอกจะออกดอกเพิ่มขึ้นมาก ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนสิงหาคม 2568 ผลผลิตมังคุดออกมากที่สุดในเดือนมิถุนายน 2568 เงาะ ออกดอกแล้วร้อยละ 67 ส่วนใหญ่อยู่ในระยะช่อสะเดา และระยะดอกบาน โดยปกติเงาะที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ก่อน คือเงาะสีทองของจังหวัดตราด ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าเงาะโรงเรียน 10 – 15 วัน ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง เดือนกันยายน 2568 ผลผลิตเงาะจะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2568 ลองกอง ออกดอกแล้วร้อยละ 2 พัฒนาการส่วนใหญ่อยู่ในระยะดอกเขียวและระยะช่อดอก ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกของลองกอง คาดว่าลองกองจะทยอยออกดอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกลองกองแซมพืชอื่น การปลูกแบบสวนเดี่ยวมีเหลือน้อย แต่เกษตรกรที่ปลูกแบบสวนเดี่ยวหรือสวนที่ชาวสวนเก็บต้นลองกองไว้มีการดูแลจัดการที่ดี ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม 2568 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2568

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรติดตามและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเตรียมความพร้อมรับมือใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณาการวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์การผลิตไม้ผลภาคตะวันออกตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดย สศท.6 มีกำหนดลงพื้นที่สำรวจข้อมูลกับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ในเดือนกุมภาพันธ์- มีนาคม 2568 เพื่อวิเคราะห์และสรุปผลในการจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออก ปี 2568 รายอำเภอ ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ภาคตะวันออก ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 และรายงานผลต่อคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ และคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้วางแผนบริหารจัดการผลไม้ตลอดฤดูกาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง