ลงนามแล้ว!  FTA ฉบับแรกกับยุโรป "ไทย-เอฟตา" เพิ่มโอกาสค้าขายเสรี กับ "สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์"

ลงนามแล้ว! FTA ฉบับแรกกับยุโรป "ไทย-เอฟตา" เพิ่มโอกาสค้าขายเสรี กับ "สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์"

View icon 164
วันที่ 24 ม.ค. 2568 | 08.51 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
เปิดรายชื่อสินค้า ที่ได้ประโยชน์จาก FTA ฉบับแรก "ไทย-เอฟตา" โอกาสทองค้าขายเสรีกับ "สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์"

เมื่อวานนี้ (23ม.ค.68) เวลา 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สมาพันธรัฐสวิส ได้มีพิธีลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ระหว่างไทย กับ “เอฟตา” หรือ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Associations : EFTA)

โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายเคิร์ท เยเกอร์ เลขาธิการ EFTA (Secretary-General EFTA) ร่วมเป็นสักขีพยาน และ มีผู้แทนจากรัฐบาลไทย ประเทศสมาชิก EFTA ที่เข้าร่วม ได้แก่

(1) นายกี ปาร์เมอแล็ง  รองประธานาธิบดี และ รมว.กระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและวิจัย สมาพันธรัฐสวิส ในฐานะเจ้าภาพ และ โฆษกการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป
(2) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย
(3) นางสาวเซซิเลีย มีร์เซท  รมว. ด้านการค้าและอุตสาหกรรม ราชอาณาจักรนอร์เวย์ ในฐานะประธาน รมว. สมาคมการค้าเสรี แห่งยุโรป ปี ค.ศ. 2025
(4) นาย Martin Eyjolfsson ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไอซ์แลนด์
(5) นางสาวดอมีนิก ฮัสเลอร์  รัฐมนตรีต่างประเทศ การศึกษา และกีฬา ลิกเตนสไตน์

FTA ฉบับนี้เป็นฉบับแรกของไทยกับยุโรป ใช้เวลาเจรจามากว่า 2 ปี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ค้าขายได้อย่างเสรีร่วมกับ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ส่งผลให้ไทยสามารถขยายโอกาสการเจรจาสู่ FTA กับ EU , UAE และ อีกหลายประเทศในอนาคต

ทั้งนี้ ไทยต้องเร่งเจรจา FTA ให้มากขึ้น ให้มากกว่าหรือเท่ากับเวียดนาม เพื่อแข่งขันกับเวียดนามได้ เพราะ FTA จะทำให้ไม่ต้องเสียภาษี และแข่งขันกับประเทศอื่นได้

หลังจากลงนามแล้ว FTA ฉบับนี้ ต้องผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็น และ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะมีผลบังคับใช้  ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่ภาคเอกชนไทย จะได้ศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ฉบับนี้

กระทรวงพาณิชย์ มีข้อมูลว่า ในปี 2567 ไทยกับเอฟตา มีมูลค่าการค้ารวม 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.94 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,225.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 7,563.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเอฟตาได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว

สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอฟตา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์นำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เคมีภัณฑ์