กรมโยธาธิการและผังเมือง ย้ำ การก่อสร้างอาคาร ต้องกันล้อมพื้นที่ ปิดคลุมวัสดุ ฉีดพรมน้ำ ฯลฯ พื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (24 ม.ค.68) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นตามความเจริญของเมืองจากการก่อสร้างต่าง ๆ ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการออกกฎหมายควบคุมอาคาร จึงได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นหนึ่งในกฎหมายป้องกันฝุ่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร มีความครอบคลุมในเรื่องการฟุ้งกระจายของฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างอาคาร ตลอดจนถึงรถที่ใช้ขนวัสดุในการก่อสร้างอาคาร โดยเนื้อหาของกฎหมายเรื่องของฝุ่นละอองมีดังนี้
การก่อสร้างอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 10.00 เมตรขึ้นไป ที่มีระยะราบวัดจากแนวอาคารด้านนอก ถึงที่สาธารณะหรือที่ดินต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครองน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของความสูงของอาคารนั้น หรืออาคารซึ่งอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน ผู้ดําเนินการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นละออง ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ดังต่อไปนี้
(ก) กันล้อมอาคารด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง
(ข) กองวัสดุที่มีฝุ่นละอองต้องปิดหรือคลุมด้วยวัสดุหรืออุปกรณ์ที่สามารถป้องกันการฟุ้งกระจาย หรือเก็บไว้ในพื้นที่ปิดล้อมหรือฉีดพรมด้วยน้ำหรือวิธีการอื่นที่ป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(ค) การขนย้ายวัสดุที่ทําให้เกิดฝุ่นละอองด้วยสายพานต้องปิดให้มิดชิด
(ง) การผสมคอนกรีต การไสไม้ การกระทําใด ๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง ต้องทําในพื้นที่ปิดล้อมหรือมีผ้าคลุม หรือใช้วิธีการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(จ) มีการจัดการวัสดุที่เหลือใช้เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
(ฉ) ฉีดล้างล้อรถทุกชนิดด้วยน้ำก่อนนําออกนอกบริเวณสถานที่ก่อสร้างเพื่อมิให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายและไม่ให้น้ำที่ใช้ในการฉีดล้างดังกล่าวไหลออกนอกบริเวณสถานที่
อย่างไรก็ตาม กรมโยธาฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งทุกจังหวัด กทม. และเมืองพัทยา กำชับให้ผู้ได้รับใบอนุญาต/ผู้ดำเนินการก่อสร้าง ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และกรณีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองอย่างรุนแรง ให้พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติม