ใบอ้อยมีค่าอย่าเผา แม่บ้านทัพหลวง รวมกลุ่มกันนำใบอ้อยมาสร้างมูลค่าเป็นเส้นใยใบอ้อย ผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า ส่งขาย สร้างรายได้งามสูงถึงกิโลกรัมละ 7,000 บาท
ที่ 26 ม.ค.68 ที่ จังหวัดอุทัยธานี มีกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่ตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ใช้เวลาหลังจากว่างงาน มารวมตัวกันตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแกทัพหลวง นำวัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์อย่างใบอ้อย มาทำเป็นเส้นใยใบอ้อย ผลิตเสื้อผ้า หมวก กระเป๋า รองเท้า จากวัสดุไร้ค่าสู่สินค้ามีมูลค่าสร้างรายได้งามสูงถึงกิโลกรัมละ 7,000 บาท สามารถช่วยลดมิลพิษทางอากาศ และยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเช่นใยใบอ้อยนั้น ในประเทศไทยมีเพียง 5 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดเท่านั้น โดยล่าสุด ได้มีการนำผลงานที่ผลิตจากเส้นใยใบอ้อย ไปร่วมประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง กลับมาอีกด้วย
โดย นางสาวไข่มุก เลาหะกาญจนศิริ อายุ 44 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านใหม่หนองแก เปิดเผยว่า เดิมทีกลุ่มของตนเองนั้นปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกันมาก่อน โดยแรงบันดาลใจในการนำใบอ้อยมาผลิตเสื้อผ้านั้น เกิดจากปัญหาการเผาไร่อ้อยในชุมชน ซึ่งในพื้นที่อำเภอบ้านไร่นั้น ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยกันเป็นหลัก ซึ่งมักมีการเผาหลังเก็บเกี่ยวเสร็จ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มเล็งเห็นถึงคุณค่าของใบอ้อยที่สามารถนำมาสร้างมูลค่า และลดปัญหาการเผาไหม้
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการได้พบกับ ดร. สรัน ผู้ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเส้นใยจากใบอ้อย ทางกลุ่มจึงได้ติดต่อและนำใบอ้อยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า หมวก กระเป๋าโน๊ตบุ๊ก และชุดสูท โดยมีการใช้ สีธรรมชาติจากคราม ในการย้อมสี เพื่อเน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ผลตอบรับในช่วงแรก ชาวบ้านมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากใบอ้อยของกลุ่มดังไกลถึงต่างประเทศ โดย ดร.สรัน ได้นำผลงานไปประกวดที่ประเทศญี่ปุ่นและได้รับรางวัลเหรียญทองแดง กลับมาอีกด้วย
ซึ่งขั้นตอนวิธีการทำนั้นจะเริ่มจากการนำใบอ้อยสดมาฉีกเป็นเส้น ก่อนนำมามัดเป็นกำขนาดดี จากนั้นนำไปหมัก EM ในถัง ใช้เวลาในการหมักที่ 90 วัน จากนั้นจะนำมาซักจนเกิดเป็นเส้นใยก่อนนำไปต้ม และตากแห้ง ก่อนนำไปผสมกับฝ้ายเพื่อเข้าสู่กระบวนการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ต้องการ ส่วนน้ำหมักที่เหลือนั้นสามารถนำไปใช้รถต้นไม้ และพืชผักในสวน ในไร่ต่อได้อีกด้วย
ในส่วนราคาสินค้าที่ขายนั้นก็จะอยู่ที่แต่ละประเภทของสินค้า อย่างเช่น เสื้อสูท จะอยู่ที่ราคาตัวละ 6,000 บาท เสื้อแขนยาว ราคา 1,200 บาท เสื้อแขนสั้นเริ่มต้นที่ 500-1,000 บาท กระเป๋า ใบละ 4,500 บาท เป็นต้น ส่วนใบอ้อย และใยอ้อยนั้นก็มีราคาเช่นเดียวกัน เราจะรับซื้อใบอ้อยสดที่กิโลกรัมละ 3 บาท ใบที่ฉีกเส้นแล้ว กิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนเส้นใยใบอ้อย 1 กิโลกรัม เมื่อผ่านกระบวนการทอผลิตแล้ว และหักค่าใช้จ่ายแล้วนั้นจะได้กำไรสูงถึงกิโลกรัมละ 7,000 บาท