เวลา 16.53 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดไตรมิตรวิทยาราม โอกาสนี้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธสัมฤทธิ์มหาจักรพรรดิ แล้วเสด็จเข้าพระอุโบสถ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธทศพลญาณ พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ปูนปั้นลงรักปิดทอง เรียกว่า "หลวงพ่อโต" หรือ "หลวงพ่อวัดสามจีน" จากนั้น ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะ พระบรมสารีริกธาตุ แล้วทรงติดธนบัตรที่องค์ผ้าป่าลอยฟ้าทรัพย์ระย้า เพื่อนำปัจจัยไปบำรุงพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรรษา เนื่องในเทศกาลตรุษจีน เฉลิมฉลองปีมะเส็งมหามงคล อุดมโชคลาภ
จากนั้น เสด็จเข้าพระมหามณฑปฯ ทรงวางผ้าไตรถวายพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระสุโขทัยไตรมิตร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุด ปางมารวิชัย พระเกศมีน้ำหนัก 45 กิโลกรัม เป็นเนื้อทองบริสุทธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระยาไกร เมื่อมีการก่อสร้างพระอุโบสถและพระวิหารหลังใหม่ของวัดไตรมิตรวิทยารามแล้วเสร็จ จึงอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในระหว่างการเคลื่อนย้ายปูนที่หุ้มองค์พระกระเทาะออก เห็นองค์พระข้างในเป็นทองคำ
โอกาสนี้ ทรงติดธนบัตรที่ต้นบายศรี ทรงพระสุหร่าย ทรงโปรยดอกไม้ที่องค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (จำลอง) เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดร้างที่จะยกขึ้นเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ทั้งนี้ วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด เดิมชื่อ วัดสามจีน เชื่อกันว่า ชาวจีน 3 คน ร่วมกันสร้างเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ ในปี 2482 พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดไตรมิตรวิทยาราม" มีความหมายว่า "เพื่อน 3 คน ร่วมกันสร้างวัดนี้"
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา วงเวียนโอเดียน ถนนเยาวราช ทรงเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2568 ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์, สภาวัฒนธรรมเขตสัมพันธวงศ์, ชาวไทยเชื้อสายจีนในเยาวราช และภาคเอกชน ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มกราคมนี้ เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน และเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน
โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กราบบังคมทูลความสำคัญของการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนร่วมกันของชาวไทยและชาวจีน ที่สะท้อนถึงมิตรภาพและสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ซึ่งรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย จัดงาน "ตรุษจีนเยาวราช" มานานกว่า 20 ปี ในปีนี้จะครบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย หรือ "ปีทองแห่งมิตรภาพจีน-ไทย 50 ปี" และถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นหลังจากเทศกาลตรุษจีน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม รัฐบาลจีน ได้ส่งคณะนักแสดงจากเขตปกครองตนเองซินเจียง, มณฑลยูนนาน และมณฑลเจ้อเจียง ร่วมแสดงในเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2568 เพื่อใช้ศิลปะอันวิจิตรงดงามมอบพรปีใหม่ที่ดีที่สุดให้กับชาวไทย ส่วนการแสดงทางวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ชุดประสบสุขสราญรมย์สัมพันธ์ไทยจีน และการแสดงเชิดสิงโตเปิดเทศกาลตรุษจีนเยาวราช
จากนั้น ทรงวางแผ่นป้ายหยินเปิดงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2568 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "จุดประกายสัมผัส ร้อยรัดสองวัฒนธรรม" หรือ "Ignite Your Senses Embrace Our Two Cultures" นำเสนอผ่านสีแดงและสีทอง สื่อถึงพลังแห่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ความมั่งคั่ง ร่ำรวย และโชคลาภ
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ มีชาวไทยเชื้อสายจีน และนักท่องเที่ยว เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ พร้อมเปล่งเสียงทรงพระเจริญ ด้วยความปลื้มปิติ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม ปางประทานพร อัญเชิญมาจากประเทศจีน เชื่อว่าหากได้สักการะ จะหายป่วย มีสุขภาพแข็งแรง
โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ เป็นองค์กรการกุศลที่จดทะเบียนเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการมากว่า 120 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2446 โดยกลุ่มคหบดีชาวจีนโพ้นทะเล สละทรัพย์ สมทบกับเงินบริจาคของประชาชน เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลให้บริการตรวจรักษา และจ่ายยาจีนแก่ผู้ป่วยยากไร้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่อมาปี 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลฯ พร้อมพระราชทานพระราชทรัพย์ สำหรับใช้ดำเนินกิจการ
ปัจจุบัน ยังคงสืบสานเจตนารมณ์ให้บริการทางการแพทย์แผนจีน โดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ส่วนแผนกแพทย์แผนปัจจุบัน ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมถึง ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย โดยเก็บค่ารักษาในราคาประหยัด
ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ร้านภูฟ้า และภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา ในการนี้ ทรงผัดโหงวก้วย โดยใช้น้ำมันเมล็ดคามีเลีย เพื่อพระราชทานแก่คณะผู้จัดงาน โดยผัดโหงวก้วย เป็นหนึ่งในเมนูอาหารมงคลของคนจีน ที่เชื่อกันมาแต่โบราณว่าจะช่วยให้ชีวิตโชคดี เจอแต่เรื่องดี ๆ สิ่งดี ๆ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ของร้านมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, มูลนิธิมหาจักรีสิรินธร เพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิรามาธิบดี รวมทั้งนิทรรศการผลงานการแลกเปลี่ยน และความร่วมมือด้านการศึกษาจีน-ไทย ครั้งที่ 5 ให้ผู้เข้าชมงานทดลองเขียนพู่กันจีน
ในการนี้ ทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายซองอั่งเปาจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วพระราชทานแก่ตัวแทนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ เพื่อนำไปมอบให้แก่ประชาชนในชุมชน แล้วทอดพระเนตรบูธนิทรรศการความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน 50 ปี, บูธสภาวัฒนธรรม เขตสัมพันธวงศ์ ที่เผยแพร่ความรู้พิธีไหว้บูชาดาวนพเคราะห์ เป็นพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของจีน เพื่อให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง และแคล้วคลาดภยันตรายทั้งปวง, บูธกลุ่มทีซีซี จำหน่ายสินค้าของกลุ่ม และชุมชน นำรายได้มอบแก่โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ และบูธคลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว ให้บริการคำปรึกษา และความรู้ทางการแพทย์แผนจีน
ถนนเยาวราช สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อส่งเสริมการค้า และความเจริญของบ้านเมือง ได้รับการขนานนามว่า "ถนนสายทองคำ" เนื่องจากมีห้างทองเรียงรายตลอดสองข้างทาง โดยงานเทศกาลตรุษจีนเยาวราช ปี 2568 ย่านเยาวราช มีการแสดงทางวัฒนธรรมจากประเทศจีน ตกแต่งถนนด้วยโคมมงคล การออกร้านจำหน่ายอาหาร สินค้าชุมชน ตลอดจน นิทรรศการและกิจกรรมการแสดง