ที่โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ (เวียงป่าเป้า) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการฯ 113 ชุด และมอบเสื้อกันหนาวให้แก่เด็ก 72 ตัว
จากนั้น ติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2554 ราษฎรส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตแบบพอเพียงทำอาชีพเก็บชา ได้รับการส่งเสริมจากโครงการฯ ในการปลูกกาแฟและผลไม้เมืองหนาว อาทิ พลับ อะโวคาโด และโกโก้ มีรายได้จากการถักไม้กวาดดอกหญ้า หาของป่าขาย และรับจ้างงานจากหน่วยงานในพื้นที่เป็นอาชีพเสริม ในปี 2567 มีรายได้เฉลี่ยปีละ 120,000 บาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้ น้ำในลำห้วยยังมีคุณภาพดีขึ้นไหลตลอดปี ราษฎรท้ายน้ำมีน้ำใช้เพื่อการเกษตร 7,000 ไร่ น้ำเพื่ออุปโภค - บริโภคในครัวเรือน 586 ครัวเรือน และมีรายได้จากการช่วยดูแลรักษาป่าและร่วมกันปลูกป่าทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 1,700 ไร่
ในตอนบ่าย เชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน 50 ชุด และมอบเสื้อกันหนาวให้แก่เด็ก 175 ตัว ณ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านห้วยหญ้าไซ อำเภอแม่สรวย
จากนั้น ติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าที่ฐานะยากจน ไม่มีพื้นที่ทำกิน โดยจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ลักษณะ "บ้านเล็กในป่าใหญ่" ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีจิตสำนึก มีส่วนร่วมพิทักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ ส่งเสริมให้ราษฎรได้รับการศึกษา โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 3 คน
ที่ผ่านมา สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศแล้ว 7,500 ไร่ ราษฎรมีรายได้จากงานศิลปาชีพส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าเพื่อเป็นอาชีพหลัก และมีการปลูกงาขี้ม่อน ข้าวเหนียวดำ และไม้ผลเป็นอาชีพเสริม โดยขายกาแฟแบบผลเชอร์รี่ มีพ่อค้าคนกลางจากหมู่บ้านดอยช้างมารับซื้อ ปี 2566 ขายได้ประมาณ 5,000-6,000 กิโลกรัม มีรายได้เข้าสู่ชุมชนประมาณ 185,000 บาท ซึ่งก่อนตั้งโครงการฯ ราษฎรมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยเพียงปีละ 30,000 บาท ปัจจุบัน มีรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 55,000-70,000 บาทต่อครัวเรือน