สนามข่าว 7 สี - ทีมข่าวไปตรวจสอบการอัดลูกโป่งสวรรค์ตามที่ต่าง ๆ ว่าใช้ก๊าซชนิดใด เพราะถือเป็นเรื่องความปลอดภัยใกล้ตัว หลังเกิดเหตุถังก๊าซอัดลูกโป่งระเบิด ที่ จังหวัดชลบุรี
เป็นภาพเหตุการณ์ถังก๊าซอัดลูกโป่งระเบิด ที่บริเวณข้างวัดสัตหีบ หรือ วัดหลวงพ่ออี๋ จังหวัดชลบุรี เมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) เหตุการณ์นี้ทำให้ "นายโอ" คนงานอัดก๊าซใส่ลูกโป่งขาขาด และรถเสียหายกว่า 10 คัน เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานพบถังที่ใช้อัดก๊าซมีการดัดแปลง และเก่ามาก ไม่น่าจะมีการตรวจสอบตามมาตรฐาน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่า ผู้บาดเจ็บผสมก๊าซอัดลูกโป่งเอง โดยใช้โซดาไฟ, น้ำ และ ส่วนผสมอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าส่วนผสมของก๊าซมีอะไรบ้าง เพื่อหาสาเหตุของการระเบิดที่แน่ชัดอีกครั้ง
คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ลงสนามข่าวที่ วัดบางจาก แถวปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ไปดูว่าลูกโป่งสวรรค์ที่ขายในงานวัดใช้ก๊าซประเภทใด
พ่อค้าแม่ค้า บอกว่า วันนี้ไม่มีลูกโป่งสวรรค์ที่เติมก๊าซ NPG กับ LPG มาขาย แต่ 1-2 วันก่อน มีมาขาย เราจึงเดินดูรอบ ๆ งานวัดอีกรอบ พบมีอยู่เจ้าหนึ่ง ชื่อว่า "นางบุปผา ทัพพะรังสี" ขายอยู่กับสามีอยู่ด้านหน้าของงานวัด เติมลมลูกโป่งด้วยที่สูบลม (เหยียบด้วยเท้า) ซึ่งปลอดภัยกว่าการใช้ก๊าซ
นางบุปผา บอกว่า ขายลูกโป่งสวรรค์มาหลายสิบปี เมื่อก่อนเติมลมด้วยก๊าซ LPG เพราะราคาถูก และขนมาเติมได้ง่าย แต่ปัจจุบันเลิกแล้วเพราะเสี่ยงเกิดประกายไฟและระเบิด ที่สำคัญ คือ เวลาเด็กเผลอเลีย หรือกัดลูกโป่ง จะเป็นแผลจากก๊าซที่เติมเข้าไป
ส่วนมีการดัดแปลงถังก๊าซหรือไม่ นางบุปผา บอกว่า ปัจจุบันยังเห็นการดัดแปลง โดยใช้น้ำแข็งแห้ง โซดาไฟ และน้ำ เพราะราคาถูกกว่าก๊าซฮีเลียมที่ใช้สำหรับอัดลูกโป่งตามมาตรฐาน
ทีมสนามข่าวสำรวจราคาของก๊าซฮีเลียมในเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป เฉพาะขนาด 1.5 คิว ต้องเสียค่าถังก๊าซ 4,000 บาท, ค่าก๊าซ 3,200 บาท 1 ถัง อัดลูกโป่งได้ 70-150 ใบ (ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกโป่ง)
ส่วนราคาลูกโป่งในงานวัดเฉลี่ย 60-80 บาท หากลองคิดกำไร-ขาดทุน พบว่าถ้ายึดตามราคาถังก๊าซ 1.5 คิว อัดลูกโป่งได้ 150 ใบ จะได้เงิน 12,000 บาท ยังถือว่าได้กำไร แต่ นางบุปผา บอกว่า แม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญ่อยากให้ต้นทุนถูกที่สุด
ด้าน อาจารย์อ๊อด ให้ข้อมูลว่า ลูกโป่งสวรรค์ ต้องใช้ก๊าซที่มีน้ำหนักเบากว่าอากาศ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ไวไฟ กับ ไม่ไวไฟ ที่นิยมใช้ ปลอดภัย ไม่ไวไฟ คือ ก๊าซฮีเลียม แต่มีราคาแพง หายาก อีกชนิดมีราคาแพงเหมือนกัน คือ น้ำแข็งแห้ง หรือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีน้ำหนักเบากว่าฮีเลียม ลูกโป่งลอยได้สูงกว่า แต่เป็นก๊าซไวไฟ ไม่นิยมใช้ หากระเบิดอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ส่วนอีกกลุ่มมีน้ำหนักเบาแต่ไวไฟและราคาถูก เช่น NPG และ LPG แบบนี้ติดไฟได้ง่าย อีกชนิดที่พบเห็นได้บ่อยตามงานวัด คือ ไฮโดรเจน ไวไฟมาก สามารถเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย