เช้านี้ที่หมอชิต - นักวิจัยจุฬาฯ ระดมแก้ปัญหาวิกฤต PM2.5 เสนอให้ปรับเกณฑ์ค่าความเข้มข้น จากมากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพื่อแจ้งเตือนให้ไวก่อนที่ประชาชนจะเจ็บป่วย
ข้อมูลนี้เผยในเวทีเสวนาทางวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 30 ในหัวข้อ "จุฬาฯ ระดมคิดพลิกวิกฤต PM2.5" โดยศาสตราจารย์ วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้มีการระดมคณาอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทั้งจากคณะแพทยศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่่อความยั่งยืน ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำเสนองานวิจัยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
ซึ่งนักวิจัย จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ เสนอปรับลดค่าความเข้มข้มของฝุ่น PM2.5 ในบ้านเรา ควรเป็นไปตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือ มากกว่า 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษ กำหนดเกณฑ์ค่าความเข้มข้น มากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
หลังพบว่า หากปรับเกณฑ์แจ้งเตือนไว จะช่วยลดอัตราเกิดมะเร็งในประชากรไทยได้ถึง 44% แต่หากปรับลดลงมามากกว่า 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ 17%
นักวิจัยจุฬาฯ ยังเผยอีกว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีโลหะหนักปะปน เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น สารหนู แคดเมียม และโครเมียม เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด ซึ่งปัจจุบัน กฏหมายควบคุมโลหะหนักยังควบคุมแค่ประเภท ตะกั่ว เท่านั้น ส่วนโลหะหนักอื่น ๆ ยังไม่ถูกควบคุม เสี่ยงมีสารก่อมะเร็งที่อาจถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้
โอกาสนี้ นักวิจัยจุฬาฯ ยังแนะนำการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี โดยช่วงสวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้มือ 2 ข้าง ป้องข้าง ๆ แก้ม ก่อนหายใจออกแรง ๆ ถ้ามีลมเล็ดลอดออกมา แสดงว่าหน้ากากฯ หลวมเกินไป ยังมีฝุ่นเข้ามาได้ จึงควรเปลี่ยนไปใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพเต็มในการป้องกันฝุ่น