วันนี้ (9 ก.พ.68) เป็นเวลากว่า 7 ปี ที่ศูนย์เเสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (หอศิลป์พระยารัษฎาฯ) เทศบาลนครตรัง จังหวัดตรัง ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่งโครงการฯ นี้ ทีมข่าว 7HD ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 และล่าสุด ลงพื้นที่ไปตรวจสอบพร้อมกับนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาธิการ ป.ป.ช.) นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า สภาพภายในเต็มไปด้วยมูลนกพิราบ เเละหลายจุดเริ่มชำรุดทรุดโทรม แต่ภาพรวมยังถือว่าโครงสร้างแข็งแรง
นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า หอศิลป์พระยารัษฎา ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2559 เบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2559 จำนวน 39,246,000 บาท ปี 2562 จำนวน 61,833,900 บาท และปี 2565 จำนวน 3,500,000 บาท ซึ่งปีหลังสุด เป็นค่าว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบปรับปรุงตกแต่งอาคาร

ขณะที่ปัจจุบัน เทศบาลนครตรัง ได้ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมอีก 287.5 ล้านบาท แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อไป คือ เมื่อโครงการนี้สำเร็จ จะเกิดการบริหารจัดการพื้นที่อย่างคุ้มค่าหรือไม่ หากพบว่า ไม่เป็นไปตามแผน จะกลายเป็นโครงการทิ้งร้าง เพราะปัจจุบัน จังหวัดตรัง มีโครงการทิ้งร้าง 23 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 2,000 ล้านบาท ดังนั้น ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง จะเกาะติดอย่างใกล้ชิด และจะประสานกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาดูแลด้วย ยืนยันว่า ไม่ได้จับผิด แต่เป็นการเฝ้าระวัง
“ผมคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า หลังจากนี้ เมื่อมีการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ นอกจากคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่าแล้ว เกรงว่าจะทิ้งร้าง เนื่องจาก จ.ตรัง มีโครงการทิ้งร้างกว่า 2,000 ล้านบาท ใน 23 โครงการ เเละโครงการนี้ยังสร้างไม่เสร็จ เเต่จะทิ้งร้างหรือไม่ กรณีนี้ ป.ป.ช.จังหวัดตรัง ให้ความสำคัญ เเละจะติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเเน่นอน” ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ระบุ
ด้านนายณรพนธ์ พักตร์จันทร์ หัวหน้าฝ่ายพัสดุล เทศบาลนครตรัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2568 เทศบาลนครตรัง ลงนามสัญญาว่าจ้างให้บริษัท เมกะ-เอ็น คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้คว้างาน โดยมีวงเงินสัญญาจ้างทั้งสิ้น 287.5 ล้านบาท และเป็นเอกชนรายเดียวที่ยื่นซองเสนอราคา ซึ่งเทศบาลนครตรังเห็นถึงความจำเป็นของโครงการฯ เนื่องจากอยู่ในความสนใจของประชาชนและกลัวว่างบประมาณที่ตั้งไว้จะใช้จ่ายไม่ทันปีงบประมาณ จึงดำเนินการเซ็นสัญญา โดยมีกรอบเวลาทำงาน 720 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี 2570
ขณะที่นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง กังวลว่า เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะบริหารจัดการฝ่ายเดียวไม่ไหว เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงเตรียมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อให้เป็นพี่เลี้ยงในการบริหารจัดการต่อไป
สุดท้าย นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. มองว่า ประเด็นที่น่าห่วงใย คือ เทศบาลนครตรังจะมีแผนรองรับในการดำเนินกิจกรรมอย่างไร โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดูแลสถานที่ต้องใช้เท่าไหร่ จึงจะเพียงพอ เพราะสถานที่ใหญ่มาก
อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เป็นโครงการทิ้งร้าง เพราะที่ผ่านมา จังหวัดตรังมีโครงการทิ้งร้างกว่า 2,000 ล้านบาท และไม่รู้ว่าอนาคตจะจบที่ตัวเลขเท่าไหร่ พร้อมให้ลองคำนวณ หากแต่ละจังหวัดมีโครงการทิ้งร้างขนาดนี้ จะสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก ป.ป.ช.จึงต้องเฝ้าระวัง ควบคู่กับ สตง. สื่อมวลชน และประชาชน