ราชทัณฑ์ชี้แจงโครงการ อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ

ราชทัณฑ์ชี้แจงโครงการ อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ

View icon 118
วันที่ 17 ก.พ. 2568 | 09.48 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ราชทัณฑ์ชี้แจงโครงการ อ่านหนังสือลดวันต้องโทษ ในคุกมีห้องสมุด มีหนังสือหลากหลายครอบคลุมผู้ต้องขังทุกกลุ่ม หลังเพจอานนท์ นำภา คอมเมนต์ไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งหนังสือเข้าเรือนจำ เพราะต้องตรวจสอบเนื้อหา ญาติฝากหนังสือให้ผู้ต้องขังได้ 1 ราย ต่อ 1 เล่ม ต่อ 1 เดือน

ตามที่แอดมินเพจนายอานนท์ นำภา ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ แต่เรือนจำกลับไม่อนุญาตให้ส่งหนังสือเข้าเรือนจำ และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณีอ่านหนังสือจบ 1 เล่ม ได้พักโทษเพิ่ม 1 วัน ล่าสุด วันนี้ (17 ก.พ.68) กรมราชทัณฑ์ ออกเอกสารชี้แจงว่า โครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ (Read for Release) ได้เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยศึกษาระบบงานราชทัณฑ์ของต่างประเทศที่ใช้กิจกรรมการอ่านหนังสือ เพื่อเชื่อมโยงกับการลดวันต้องโทษ ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ต้องขังได้ความรู้จากการอ่าน และส่งเสริมให้ผู้ต้องขังที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง

ในเดือนเมษายน 2568 จะขับเคลื่อนโครงการผ่านการอ่านหนังสือ เพื่อประกอบการเลื่อนชั้นก่อน ในเรือนจำ และทัณฑสถานนำร่อง 21 แห่ง (เป็นเรือนจำที่ดำเนินการห้องสมุดพร้อมปัญญา และได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดห้องสมุดเรือนจำ) ดังนั้น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม กรมราชทัณฑ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ 24 คน โดยมีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธาน และมีบุคลลภายนอกที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ

ทั้งนี้ การอ่านหนังสือลดวันต้องโทษได้ดำเนินโครงการคู่ขนานกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการราชทัณฑ์ด้วย

ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ มีห้องสมุดครอบคลุมทุกเรือนจำและทัณฑสถาน โดยดำเนินงานภายใต้มาตรฐานห้องสมุดเรือนจำตามแนวทางที่กรมราชทัณฑ์กำหนด แบ่งเป็นห้องสมุดเรือนจำขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีห้องสมุดสาขา ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมหนังสือประจำแดน เพื่อบริการส่งหนังสือถึงมือผู้ต้องขังทุกคนให้ได้อ่านมากที่สุด เสมือนเป็นห้องสมุดในโรงเรียน พร้อมทั้งยกระดับห้องสมุดเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลแบบทศนิยมดิวอี้

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายกับห้องสมุดภายนอกทั้งห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดมหาวิทยาลัย เพื่อหยิบยืมหมุนเวียนหนังสือในเรือนจำให้มีความหลากหลายครอบคลุมผู้ต้องขังทุกกลุ่ม อีกทั้งยังฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังสามารถซ่อมแซมหนังสือของหน่วยงานภายนอกได้ กรณีทัณฑสถานหญิงกลาง มีห้องสมุดขนาดใหญ่ มีหนังสือทั้งสิ้น 13,000 เล่ม ไว้ให้ผู้ต้องขังได้ยืม-คืน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอ่านอย่างเพียงพอ รวมทั้งผู้ต้องขังยังสามารถยืมขึ้นไปอ่านภายในเรือนนอนได้อีกด้วย และมีห้องสมุดสาขา 14 สาขา ในเรือนนอน

สำหรับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการห้องสมุดเรือนจำภายใต้มาตรฐานที่กำหนด มีห้องสมุดสาขาในแดน กรณีการฝากหนังสือเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ เป็นแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึง การอ่านได้มากที่สุด จึงกำหนดให้ญาติสามารถนำหนังสือมาฝากไว้ที่ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยฝากให้ผู้ต้องขังได้ 1 ราย ต่อ 1 เล่ม ต่อ 1 เดือน และฝากได้เฉพาะวันที่ 1-10 ของทุกเดือน เนื่องด้วย มีญาตินำหนังสือมาฝาก ให้ผู้ต้องขังแต่ละรายจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการควบคุมจำนวน และการตรวจสอบเนื้อหาของหนังสือ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยของเรือนจำ โดยเรือนจำได้แจ้งแนวทางดังกล่าวให้ญาติรับทราบอย่างชัดเจน