กรมอุทยานฯ ร่วมมือกรมศิลป์ ขุดค้นพบ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง” อายุกว่า 29,000 ปี เก่าแก่ที่สุดในไทย ที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (24 ก.พ. 68) นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแถลงข่าวที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเขาแดง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่องการค้นพบ “โครงกระดูกมนุษย์ยุคน้ำแข็ง” (สมัยไพลสโตซีน) และภาพเขียนสีโบราณที่แหล่งโบราณคดีถ้ำดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด บ้านพุใหญ่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
สืบเนื่องจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ได้ดำเนิน "โครงการขุดค้นศึกษาแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีที่ถ้ำดิน" ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เพื่อศึกษาร่องรอยการอยู่อาศัยของคนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย นำไปเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวทางมรดกศิลปวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในอนาคต
ทางอธิบดีกรมศิลปากร เผยว่า การค้นพบครั้งนี้นับเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ด้านโบราณคดีของประเทศไทย และเป็นการค้นพบหลักฐานใหม่ของโลก ที่ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์อายุกว่า 29,000 ปี เทียบได้กับสมัยยุคน้ำแข็ง โดยการขุดค้นครั้งนี้ เป็นความสำเร็จร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในการสำรวจเรื่องราวของมนุษย์โบราณที่เคยอาศัยอยู่ในถ้ำดิน และบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย หลังจากที่ปี พ.ศ.2563 ได้พบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ จึงเริ่มขุดค้นในคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ เนื่องจากพื้นดินมีฝุ่นขี้เถ้าไฟ ทำให้พบโบราณวัตถุประเภทขวาน เปลือกหอย กระดูกสัตว์ และเมล็ดพืชจำนวนมาก สันนิษฐานว่า มีหลักฐานคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ จึงขุดลึกไปอีก 2 เมตร จนพบโครงกระดูกมนุษย์ จากการพิจารณาฟันแล้วคาดว่า เป็นเด็กช่วงอายุ 6-8 ปี จำนวน 1 โครง ยังไม่ระบุเพศ ตั้งชื่อโครงกระดูกนี้ว่า “ปังปอน” หลังจากส่งไปหาค่าอายุ ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบว่า มีอายุประมาณ 29,000 ปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเทียบกับค่าอายุยุคมนุษย์น้ำแข็งร่วมสมัยในเชิงลึก และจะทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านรองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมากในการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ในพื้นที่ถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โดยกรมศิลปากรนั้นถือเป็นความร่วมมือของกรมศิลปากรและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ หลังจากนี้ต้องมีการหารือพูดคุยกันต่อไปกับทางกรมศิลปากร ก่อนเปิดให้ท่องเที่ยว