กรมทะเล เผยผลชันสูตร “ซากวาฬบรูด้า” หัวขาด ที่เกยตื้นชายฝั่งทะเลบางปู จ.สมุทรปราการ คาดถูกใบพัดเรือฟัน เสียเลือดมากอย่างรวดเร็ว และช็อก ทำให้เสียชีวิต
วันนี้ (9 มี.ค. 68) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) ร่วมกับเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน, เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ, กรมประมง, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และอาสาสมัคร ร่วมลงพื้นที่ชันสูตรซาก “วาฬบรูด้า” (Bryde's whale: Balaenoptera edeni) หลังได้รับแจ้งเกยตื้นจากเพจเฟซบุ๊ก “ที่นี่สมุทรปราการ” เมื่อวันศุกร์ (7 มี.ค. 68) ที่ผ่านมา โดยวาฬบรูด้าตัวดังกล่าวเป็นเพศเมีย วัยรุ่น อายุไม่เกิน 3 ปี ตายมาแล้วประมาณ 3 วัน สภาพซากเน่า ผิวหนังหลุดลอก
ทางสัตวแพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยผลจากการชันสูตรพบว่า “วาฬบรูด้า” มีความสมบูรณ์ของร่างกายดี (Body Condition Score 3/5) ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง 3-4.5 เซนติเมตร บาดแผลเป็นรอยตัดลึกบริเวณกรามบน กรามล่าง ท้ายทอย และคางด้านขวา ส่งผลให้กระดูกบริเวณปลายกรามบน และกรามล่างทั้งสองข้างหัก (Complete Transverse Fracture) กะโหลกด้านซ้ายแตก และส่วนปลายของสะบักซ้ายเป็นรอยตัดจากของมีคมที่ผิวหนัง ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นรอยตัดจากการถูกของแข็งรอบแรงเหวี่ยงสูง ซึ่งเนื้อเยื่อโดยรอบบริเวณดังกล่าวเป็นรอยช้ำ คั่งเลือด เป็นวงกว้าง และด้านหลังบริเวณลำตัว มีรอยช้ำขนาด 160 ซม. ส่วนระบบทางเดินหายใจพบการคั่งเลือดที่ปอดซ้ายอย่างรุนแรง และมีเลือดออกในเยื่อหุ้มปอด ส่วนระบบหัวใจและหลอดเลือดพบลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดง Aorta เล็กน้อย ลิ้นหัวใจปกติ ขณะที่ระบบทางเดินอาหารพบอาหารตลอดแนวลำไส้เล็กถึงลำไส้ส่วนท้ายและไม่พบสิ่งแปลกปลอมในระบบทางเดินอาหาร อวัยวะภายในอื่น ๆ ตับ ม้าม ไต ตับอ่อน และระบบสืบพันธุ์เน่าสลาย
สรุปสาเหตุการตายเกิดจากการถูกของแข็งรอบแรงเหวี่ยงสูงกระแทกโดยตรง และเกิดการเสียเลือดปริมาณมากอย่างรวดเร็ว และเกิดภาวะช็อกจากการสูญเสียเลือดและเจ็บปวดอย่างรุนแรง
หลังจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะนำโครงกระดูกวาฬบรูด้าดังกล่าวมาเก็บรักษาไว้ ณ อาคารจัดแสดงโครงกระดูกวาฬบรูด้าและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนต่อไป