จับกุมข้าราชการ กทม. 7 ราย จัดจ้างซ่อมรถบัส โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง

จับกุมข้าราชการ กทม. 7 ราย จัดจ้างซ่อมรถบัส โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง

View icon 433
วันที่ 12 มี.ค. 2568 | 11.06 น.
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จับกุมข้าราชการ กทม. 7 ราย จัดจ้างซ่อมรถบัส โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง เบิกจ่ายงบประมาณ 28 ครั้ง มูลค่าความเสียหายกว่า 2.79 ล้านบาท

วันนี้ (วันพุธที่ 12 มีนาคม 2568) เวลา 09.15 น. สำนักงาน ป.ป.ท. นำโดยนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วย พ.ต.ท. สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. น.ส.ชิยา ศิริรักษ์ ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 4 พ.ต.ท.สราวุธ คำเหลือง ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมกับ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกันลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริง กรณีจ้างเหมาซ่อมแซมรถโดยสารปรับอากาศทิพย์ ของ กทม. ณ อู่ซ่อมรถแห่งหนึ่ง ย่านราษฎร์พัฒนา เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ พร้อมกับจับกุมผู้ต้องหาและแจ้งข้อกล่าวหาข้าราชการ ในสังกัดกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ราย ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยผู้ต้องหา จำนวน 6 ราย ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง และผู้ต้องหาอีก 1 ราย ถูกจับกุม ณ บริเวณด้านหน้าที่พักอาศัย

สืบเนื่องจาก สตง. ได้ตรวจสอบพบความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการจ้างเหมาซ่อมแซมรถโดยสารปรับอากาศ ขนาด 45-50 ที่นั่ง จำนวน 5 คัน ในกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการตรวจสอบเอกสารพบว่า หน่วยราชการดังกล่าวมีการเบิกฎีกาจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าวในห่วงระหว่างปี พ.ศ.2565 – 2567 โดยไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริง จำนวน 11 ครั้ง โดยมีกลุ่มของผู้ต้องหา ทั้ง 7 คน ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุขออนุมัติจ้างซ่อม และทำการปลอมใบเสนอราคาของบริษัทซ่อมรถ ทั้ง 5 คัน เพื่อจัดทำเอกสารเสนอราคากลางในการจ้างซ่อม แล้วดำเนินการอนุมัติงบประมาณ สตง. จึงส่งเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า มีการจ้างเหมาซ่อมรถโดยสารดังกล่าว โดยที่ไม่มีการส่งรถเข้าซ่อมจริงอีก จำนวน 12 ครั้ง และกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจพบการกระทำลักษณะเดียวกันอีก จำนวน 5 ครั้ง รวมการกระทำความผิด จำนวน 28 ครั้ง หรือ 28 ฎีกาของการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมเป็นเงินที่มีการทุจริตทั้งสิ้น จำนวน 2,790,748 บาท (สองล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นเจ็ดร้อยสี่สิบแปดบาท) และต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 กรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พงส.กก.1 บก.ปปป. เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทั้ง 7 คน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จนนำมาสู่การบูรณาการเข้าบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน ระหว่าง ป.ป.ท. บก.ปปป. ป.ป.ช. และ สตง. ในวันนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง