ข่าวภาคค่ำ - "ธุรกิจปางช้าง" ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินจำนวนมาก แต่การใช้ตะขอเเละโซ่ เป็นการทรมานช้างหรือไม่ ติดตามจากงานพิเศษ "ธุรกิจปางช้าง อนุรักษ์ หรือ ทรมาน"
หากธุรกิจปางช้างเปรียบเสมือนร่างกาย ควาญช้างคงเปรียบเสมือนหัวใจของร่างกายนี้ เพราะควาญช้างเป็นผู้ดูแลให้ช้างได้ใช้ชีวิต ช้างกับควาญจึงต้องมีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นประจำทุกวันที่ ควาญจ่อย จะขี่รถซาเล้งไปตัดหญ้าจากห้วยชมพูในอำเภอแม่เเตง จังหวัดเชียงใหม่ มาให้ช้างกิน ซึ่งหญ้าที่ตัดมา ควาญจ่อย บอกว่าต้องเป็นหญ้าหนุ่ม หากอ่อน หรือ แก่ไปช้างจะไม่กิน เราช่วย ควาญจ่อย ขนหญ้าวางไว้หน้าโรงช้าง เมื่อเสร็จเเล้วจึงเข้าไปทักทาย เพื่อเพิ่มความคุ้นเคย
ช้างของปางเเห่งนี้ พระอาจารย์อ๊อด วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ไถ่ชีวิตมาฝึกให้เชื่อง จากนั้นจะส่งมอบให้ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง แน่นอนว่าการฝึกช้าง โดยเฉพาะช้างดุร้าย พระอาจารย์อ๊อด มองว่าจำเป็นต้องใช้ตะขอ แม้จะถูกตีตราว่าเป็นสัญลักษณ์ของการทำร้าย แต่สำหรับควาญช้างแล้วตะขอเปรียบเสมือนเครื่องมือใช้ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ไม่ต่าง "ควาญเเบงค์" คลุกคลีอยู่กับช้างตั้งเเต่จำความได้ เเละเมื่อจบชั้น ม.6 จึงหันมาเลี้ยงช้างจริงจัง เขามองว่าตะขอเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างช้างกับคนที่สืบต่อกันมาตั้งเเต่บรรพบุรุษ การใช้ตะขอ โซ่ เพื่อการบังคับช้าง เป็นวิถีของคนเลี้ยงช้างที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต ในสายตาของควาญ และธุรกิจปางช้าง มองว่าไม่ได้เป็นการทรมาน แต่มีมุมมองนักวิชาการ เห็นว่า การดูแลสวัสดิภาพช้างเป็นสิ่งที่ธุรกิจปางช้างต้องให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องอาหาร สภาพเเวดล้อม พฤติกรรมตามธรรมชาติ การตรวจสุขภาพประจำปี ที่สำคัญคือต้องดูแลสภาพจิตใจของช้าง
ปัจจุบันประเทศไทยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง พ.ศ.2563 เพื่อควบคุมธุรกิจปางช้างเเละคุ้มครองช้าง ซึ่งต้องเลี้ยงในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพดี มีอาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ สอดคล้องกับกิจกรรมที่หลากหลาย ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และมีแผนฝึกซ้อมภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว